GOLD.in.th
ราคาทองวันนี้ ข่าวสาร วิเคราะห์ ทองคำ
เพิ่มเพื่อน

เพิ่มเพื่อนบัญชีทางการของเราเพื่อรับข่าวสารล่าสุด

วิเคราะห์ราคาทองคำ 23 ก.พ.64(ภาคเช้า) by YLG

522

- Advertisement -

โดย  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

คำแนะนำ :

รอจังหวะการอ่อนตัวลงของราคาบริเวณโซน 1,795-1,779 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จึงค่อยเข้าซื้อ หรือ หากราคาทองคำไม่สามารถยืน 1,821-1,827 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ให้แบ่งทองคำออกขายเพื่อทำกำไรบางส่วน แต่หากผ่านได้ให้ชะลอการขายออกไป

แนวรับ : 1,795 1,779 1,760  แนวต้าน : 1,827 1,841 1,856

จจัยพื้นฐาน :

- Advertisement -

ราคาทองคำวานนี้ปิดทะยานขึ้น 25.55 ดอลลาร์ต่อออนซ์  โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากตลาดหุ้นทั่วโลกที่ชะลอความร้อนแรง  จากความวิตกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่พุ่งขึ้น จะส่งผลให้ต้นทุนกู้ยืมของภาคธุรกิจพุ่งขึ้นและอาจกระทบต่อแผนการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน  ซึ่งการปรับตัวลงของตลาดหุ้นกระตุ้นแรงซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย  นอกจากนี้  ราคาทองคำยังได้รับแรงหนุนเพิ่มจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์  เนื่องจากเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นทะลุ 1.4 ดอลลาร์แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี  หลังนักลงทุนคาดการณ์ว่าการฉีดวัคซีนต้าน COVID-19 ที่รวดเร็ว  และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จะนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ  ทั้งนี้  นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เผยวานนี้ว่า  มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศของอังกฤษจะค่อยๆผ่อนคลายลง  โดยมีแผนจะเปิดโรงเรียนอีกครั้งภายในวันที่ 8 มี.ค.และเปิดไนต์คลับภายในวันที่ 21 มิ.ย. ส่งผลให้เงินปอนด์พุ่งขึ้นจนสร้างแรงหนุนให้กับทองคำ  ประกอบกับยูโรแข็งค่าขึ้น  หลัง Ifo เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีดีดตัวเกินคาดสู่ระดับ 92.4 ในเดือนก.พ.จึงเป็นปัจจัยกดดันดอลลาร์และหนุนราคาทองคำเพิ่มเติม  ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นช่วยหนุนให้ราคาทองพุ่งขึ้นมายืนเหนือ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง  ซึ่งช่วยกระตุ้นแรงซื้อทางเทคนิคส่งผลให้ราคาทองคำดีดตัวขึ้นต่อ  จนทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,812.46 ดอลลาร์ต่อออนซ์  อย่างไรก็ดี  กองทุน SPDR ถือครองทองลดลง -12.24 ตัน  สำหรับวันนี้  จับตาการแถลงของนายเจอโรม  พาวเวลล์  ประธานเฟดต่อหน้าคณะกรรมการการธนาคารประจำวุฒิสภา  รวมถึงการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก CB และดัชนีภาคการผลิตจากเฟดริชมอนด์

จจัยทางเทคนิค :

หากราคาทองคำพยายามขึ้นไปทดสอบแนวต้านในโซน  1,821-1,827 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากแรงซื้อไม่มากพอหรือราคาไม่สามารถยืนได้อย่างแข็งแกร่ง ทำให้ประเมินว่าในระยะสั้น ยังคงมีโอกาสปรับตัวลงทดสอบ แนวรับ 1,800-1,795 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่แนวรับถัดไปนั้นอยู่ในบริเวณ 1,779 ดอลลาร์ต่อออนซ์

กลยุทธ์การลงทุน :

รอเปิดสถานะซื้อในบริเวณ 1,795-1,779 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ลดพอร์ตสถานะซื้อหากราคาหลุด 1,779 ดอลลาร์ต่อออนซ์) หากราคาดีดตัวขึ้นให้พิจารณาโซน 1,827-1,841 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นจุดทยอยปิดสถานะซื้อเพื่อทำกำไร

ข่าวสารประกอบการลงทุน :

  • (+) Ifo เผยความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนีสูงเกินคาดในเดือนก.พ.  Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีดีดตัวสู่ระดับ 92.4 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 90.3 ในเดือนม.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 90.5
  • (+) เงินปอนด์แข็งค่า รับความหวังอังกฤษผ่อนคลายล็อกดาวน์  เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (22 ก.พ.) ขานรับความหวังที่ว่า นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น  ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.37% สู่ระดับ 90.0300 เมื่อคืนนี้  เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.4074 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4013 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2164 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2114 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7922 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7865 ดอลลาร์  ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.03 เยน จากระดับ 105.49 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8957 ฟรังก์ จากระดับ 0.8967 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2602 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2619 ดอลลาร์แคนาดา
  • (-) เฟดดัลลัสเผยดัชนีภาคการผลิตดีดตัวขึ้นในเดือนก.พ. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตรัฐเท็กซัสพุ่งขึ้นสู่ระดับ 19.9 ในเดือนก.พ. จากระดับ 4.6 ในเดือนม.ค.  ดัชนีมีค่าเป็นบวกในเดือนก.พ. ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในเท็กซัส แม้เศรษฐกิจเผชิญพายุฤดูหนาวในช่วงเวลาดังกล่าว  ดัชนีภาคการผลิตส่งสัญญาณขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 หลังจากทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
  • (-) เฟดชิคาโกเผยดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูงกว่าคาดในเดือนม.ค.  ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยว่า ดัชนี Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 0.66 ในเดือนม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.15 จากระดับ 0.41 ในเดือนธ.ค.  การดีดตัวของดัชนีได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของยอดขายบ้านและการบริโภค
  • (+/-) ดาวโจนส์ปิดบวกเพียง 27.37 จุด กังวลผลกระทบบอนด์ยีลด์พุ่ง  ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (22 ก.พ.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงหนักสุด และเป็นปัจจัยฉุดดัชนี Nasdaq ดิ่งลงกว่า 2.4% อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้น หลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ทะยานขึ้นเกือบ 4%  ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,521.69 จุด เพิ่มขึ้น 27.37 จุด หรือ +0.09% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,876.50 จุด ลดลง 30.21 จุด หรือ -0.77% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,533.05 จุด ลดลง 341.42 จุด หรือ -2.46%
  • (+/-) “เยลเลน” ออกโรงเตือนเม่าเสี่ยงขาดทุนจากบิตคอยน์  นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวเตือนนักลงทุนในวันนี้เกี่ยวกับความเสี่ยงในการถือครองบิตคอยน์  “ดิฉันไม่คิดว่าบิตคอยน์จะถูกใช้เป็นกลไกในการทำธุรกรรมในวงกว้าง และดิฉันวิตกเกี่ยวกับการที่บิตคอยน์มักถูกใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย” นางเยลเลนกล่าวต่อสำนักข่าว CNBC  นอกจากนี้ นางเยลเลนยังตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการ “ขุด” บิตคอยน์ ซึ่งต้องใช้คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงจำนวนมากในการแก้สมการทางคณิตศาสตร์ ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงานอย่างมาก  ขณะเดียวกัน นางเยลเลนยังเตือนถึงความผันผวนของราคาบิตคอยน์
  • (+/-) จับตา “พาวเวล” แถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสสัปดาห์นี้  นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้  ทั้งนี้ นายพาวเวลจะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันพรุ่งนี้ และต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธ  ที่ผ่านมา ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ประธานเฟดมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสปีละ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในเดือนก.พ. และอีกครั้ง ในเดือนมิ.ย.หรือก.ค.  นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวล เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ, อัตราเงินเฟ้อ, ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

- Advertisement -

Comments
Loading...