โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
แนะนำเน้นการเก็งกำไรระยะสั้นในกรอบ 1,803-1,845 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากราคาทองคำยังคงพยายามยืนเหนือโซนแนวรับ 1,803 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ทำให้ราคายังคงมีโอกาสขยับขึ้นเพื่อทดสอบแนวต้านโซน 1,832-1,845 ดอลลาร์ต่อออนซ์
แนวรับ : 1,803 1,786 1,771 แนวต้าน : 1,832 1,845 1,856
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวานนี้ปิดดิ่งลง 21.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวที่ผันผวนอย่างหนัก หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 4.2% ซึ่งเป็นการดีดตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2008 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% อย่างไรก็ดี การพุ่งขึ้นแรงของเงินเฟ้อทำให้ตลาดสงสัยในจุดยืนของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่มองว่าการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น จนกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่า“เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมถึงลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE)เร็วกว่าที่คาดไว้” เพื่อสกัดเงินเฟ้อ สะท้อนจากสัญญา Eurodollar Futures ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในตลาด บ่งชี้ว่าตลาดเห็นถึงโอกาส 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 bps ในเดือนธ.ค. 2022 และมีโอกาส 100% ที่จะปรับขึ้น 25 bps ในระหว่างเดือนมี.ค.-มิ.ย.2023 ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 1.705% ซึ่งกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย ขณะที่ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.67% สู่ระดับ 90.773 ส่งผลให้ราคาทองคำร่วงลงจากระดับสูงสุดในระหว่างวันบริเวณ 1,843.31 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลงสู่ระดับต่ำสุดบริเวณ 1,812.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในฝั่งผู้ผลิต และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ปัจจัยทางเทคนิค :
หากราคาทองย่อตัวลงมา แต่ยังคงทรงตัวได้เหนือระดับ 1,803 ดอลลาร์ต่อออนซ์ คาดว่าจะเห็นการดีดกลับไปทดสอบแนวต้าน 1,832 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง และหากยืนบริเวณแนวต้านดังกล่าวได้ อาจขยับขึ้นทดสอบแนวต้านถัดไป 1,845 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับสูงสุดของเดือน พ.ค.)
กลยุทธ์การลงทุน :
แนะนำให้เข้าซื้อ หากราคาทองคำขยับลงไม่หลุดแนวรับ 1,803 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ (ตัดขาดทุนหากราคาหลุด) และอาจแบ่งขายทำกำไรบางส่วนหากราคาไม่ผ่านแนวต้านบริเวณ 1,832 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากผ่านได้ชะลอการปิดสถานะซื้อไปที่แนวต้านถัดไปบริเวณ 1,845 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ดาวโจนส์ปิดร่วง 681.50 จุด วิตกเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดหลังเงินเฟ้อพุ่ง ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 600 จุดเมื่อคืนนี้ (12 พ.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 ดิ่งลงเป็นเปอร์เซ็นต์ในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้ออาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,587.66 จุด ลดลง 681.50 จุด หรือ -1.99% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,063.04 จุด ลดลง 89.06 จุด หรือ -2.14% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,031.68 จุด ลดลง 357.75 จุด หรือ -2.67%
- (-) รัสเซียขานรับข้อเสนอสหรัฐจัดซัมมิต “ไบเดน VS ปูติน” เดือนหน้า นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียขานรับข้อเสนอของสหรัฐในการจัดการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในเดือนหน้า นายลาฟรอฟกล่าวว่า ในฐานะมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ รัสเซียและสหรัฐมีความรับผิดชอบต่อการรักษาเสถียรภาพของโลก นอกจากนี้ นายลาฟรอฟระบุว่า หากมีการจัดการประชุมสุดยอด ทั้งสองฝ่ายควรหารือกันในประเด็นการควบคุมอาวุธ และการรักษาเสถียรภาพในระดับโลก ก่อนหน้านี้ ปธน.ไบเดนแสดงความหวังว่า เขาจะได้พบปะกับปธน.ปูตินในระหว่างการเดินทางเยือนยุโรปในเดือนหน้า
- (-) ผลวิจัยญี่ปุ่นชี้วัคซีนไฟเซอร์ป้องกันโควิดสายพันธุ์ต่างๆได้ ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเมืองโยโกฮามาเปิดเผยผลการศึกษาระบุว่า ประมาณ 90% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์นั้น มีแอนติบอดีในการต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ ที่ตรวจพบในญี่ปุ่น การวิจัยครั้งนี้ได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 โดสให้แก่ผู้ทดลอง 105 คนที่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาก่อนซึ่งรวมถึงไวรัสโควิด 7 สายพันธุ์ ผลการศึกษาระบุว่า ผู้ร่วมทดลอง 90-94% จากทั้งหมด 105 คนนั้นพบว่ามีแอนติบอดีในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ที่พบในสหราชอาณาจักร, แอฟริกาใต้ และบราซิล ขณะที่ 97% พบแอนติบอดีในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ที่ตรวจพบในอินเดีย นอกจากนี้ ยังพบว่า 99% มีแอนติบอดีในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น
- (-) สหรัฐเผยจำนวนผู้ขอสินเชื่อจำนองเพิ่มขึ้นสัปดาห์ที่แล้ว ขานรับดอกเบี้ยลดลง สมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองเพิ่มขึ้น 2.1% ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง ทั้งนี้ จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 1% ในสัปดาห์ที่แล้ว และพุ่งขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
- (-) สหรัฐเผยดัชนี CPI เดือนเม.ย. พุ่งเกินคาด สูงสุดรอบกว่า 12 ปี กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนเม.ย.ในวันนี้ โดยระบุว่า ดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมี.ค.
- (-) ดอลล์แข็งค่า คาดเงินเฟ้อพุ่งหนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ย-ลด QE ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งขึ้นสูงกว่าคาดการณ์นั้น จะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.63% สู่ระดับ 90.7116 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.58 เยน จากระดับ 108.64 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9080 ฟรังก์ จากระดับ 0.9034 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2106 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2089 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2079 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2152 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.4058 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4157 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7730 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7844 ดอลลาร์สหรัฐ