GOLD.in.th
ราคาทองวันนี้ ข่าวสาร วิเคราะห์ ทองคำ
เพิ่มเพื่อน

เพิ่มเพื่อนบัญชีทางการของเราเพื่อรับข่าวสารล่าสุด

ทองคำ VS ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำไมถึงสวนทางกัน? EP.1 จุดเริ่มต้นของ Gold Standard

0 2,770

- Advertisement -

ทองคำ VS ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำไมถึงสวนทางกัน? EP.1 จุดเริ่มต้นของ Gold Standard

“ทำไมดอลลาร์แข็งค่าแล้วทองคำถึงต้องลงหล่ะ” นี่คือข้อความที่เด้งขึ้นมาบน Facebook ส่วนตัวของผม จากเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย ต้องยอมรับว่าสตั๊นท์ไปหลายนาทีอยู่เหมือนกันครับ(ร้อยวันพันปีไม่เคยทัก ทักมาที หางานให้เลยนะไอ้เพื่อนยาก) ซึ่งอย่างที่นักลงทุนทองคำทุกท่านทราบกันดีนอกเหนือจากการเป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อของทองคำและการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยแล้ว ลักษณะการเคลื่อนไหวของทองคำและดอลลาร์สหรัฐฯมันจะสวนทางกันครับ นั่นเป็นสิ่งที่เรารู้มาตลอด แต่ถ้าถามลึกไปว่า ทำไม? อันนี้ก็คงต้องคุยกันยาวหน่อย จะบอกว่าเพราะว่าเรียนมาอย่างนี้ ก็กระไรอยู่ ว่าแล้วก็ไปคุ้ยข้อมูล และก็มานั่งปั่นบทความมาให้ท่านผู้อ่านปวดหัวไปกับผมด้วยก็แล้วกัน เอาให้กระจ่างกันไปเลยดีกว่าครับว่าทำไม

ต้องขอพาผู้อ่านย้อนกลับไปสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ครับ(ยุคนั้นประเทศในแถบยุโรปเป็นมหาอำนาจครับ) สมัยก่อนระบบการเงินยังไม่เหมือนสมัยนี้ครับ ก็พัฒนากันมาเรื่อยๆจากเดิมที่ใช้ของแลกของ (Barter Trade) ก็หันมากำหนดสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เริ่มแลกก็เป็นวัตถุมีค่าอย่างทองคำ เป็นต้น จนพัฒนามาเป็นระบบเงินกระดาษครับ แต่เงินกระดาษไม่ได้มีค่าโดยตัวมันเองนะครับ จะเอามาใช้โดยไม่มีหลักเกณฑ์อะไร อาจจะได้เห็นเงินกระดาษท่วมโลก เมื่อคิดได้ดังนั้น ทั่วโลกก็มานั่งประชุมตกลงกันว่าจะใช้หลักเกณฑ์หรือระบบอะไรดี เพื่อให้ระบบการเงินมันมีเสถียรภาพมากกว่าที่มันเคยเป็นอยู่ ทำมาค้าขายจะได้สะดวกๆ คุยกันนานสองนาน มาตรฐานทองคำหรือ Gold Standard จึงถือกำเนิดขึ้นมาครับ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เงินดอลลาร์มาเกี่ยวข้องกับทองคำจนถึงปัจจุบันนี้ โดยหลักการและระเบียบปฏิบัติของมาตรฐานทองคำที่สำคัญมี สามข้อด้วยกัน

- Advertisement -

  1. ทุกประเทศต้องเปรียบเทียบค่าเงินของตัวเองกับทองคำจำนวนหนึ่ง พูดง่ายๆก็คือต้องผูกค่าเงินของตัวเองไว้กับทองคำ ส่วนจะผูกไว้เท่าไหร่ นั่นก็สุดแล้วแต่ประเทศนั้นๆครับ
  2. ประเทศจะต้องรักษาสัดส่วนระหว่างเงินสกุลของประเทศตัวเองกับปริมาณทองคำให้คงที่ อธิบายให้เห็นภาพก็คือ เงินที่ทุกๆประเทศที่พิมพ์ได้จะขึ้นอยู่ปริมาณทองคำในประเทศที่ ธ.กลางแต่ละประเทศมีครับ อีกนัยหนึ่งก็คือ เงินกระดาษเหล่านี้มันมีค่าก็เพราะมีรุ่นพี่อย่างทองคำคอยหนุนหลังนั่นเอง
  3. ต้องให้การนำเข้าส่งออกทองเป็นไปอย่างเสรี

พูดเป็นข้อๆคงไม่เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างให้ดูเลยดีกว่าครับโดยให้โลกนี้มี 2 ประเทศคืออังกฤษที่มีปอนด์เป็นสกุลเงินประจำชาติและสหรัฐฯที่มีดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอังกฤษบอกว่าเงิน 25 ปอนด์จะแลกทองคำได้ 1 ออนซ์หรือ 1 ปอนด์แลกได้ 0.04 ออนซ์ ส่วนสหรัฐฯบอกว่าเงิน 40 ดอลลาร์แลกทองคำได้ 1 ออนซ์ หรือ 1 ดอลลาร์แลกได้ 0.02 ออนซ์ เมื่อเทียบเป็นอัตราแลกเปลี่ยนกัน 1 ปอนด์จะแลกได้ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯนั่นเองหากสหรัฐฯมีทองคำอยู่ทั้งหมด 1 ร้อยล้านออนซ์ จะสามารถผลิตเงินใส่เข้าไปในเศรษฐกิจได้ที่ 2.5ล้านดอลลาร์สหรัฐฯครับ(เอา 40 หาร) ถ้าอยากผลิตเงินเพิ่มก็ต้องเอาทองคำมาเพิ่ม(นี่ก็เป็นสาเหตุให้ปัจจุบันธ.กลางทุกประเทศมีการเก็บทองคำไว้ครับ แต่ไม่ต้องผูกค่าเงินไว้กับทองคำแล้ว) จากนั้นเมื่อมีการค้าขายกัน หากสหรัฐฯนำเข้าสินค้าจากอังกฤษมากขึ้นเรื่อยๆ ผลที่ตามมาก็คือจะต้องการเงินปอนด์มากขึ้น(ซื้อของอังกฤษก็ต้องใช้สกุลเงินของเขาสิ) และต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐฯน้อยลง หากความต้องการมีมากขึ้นเรื่อยๆ อัตราแลกเปลี่ยนมีโอกาสเปลี่ยนแปลงครับ จากเดิมที่ต้องเอา 2 ดอลลาร์สหรัฐฯแลก 1 ปอนด์ อาจต้องใช้ถึง 3 ดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อแลก 1 ปอนด์ตามกฎอุปสงค์อุปทาน ที่มีหลักว่าเมื่อต้องการมากขึ้นแต่ของเท่าเดิม ราคาก็ต้องเปลี่ยนครับ(อัตราแลกเปลี่ยนต้องเปลี่ยนนั่นเอง) แต่หากย้อนกลับไปดูข้อกำหนด จะแสดงให้เห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยนหรือราคาของเงินปอนด์ที่ต้องใช้ดอลลาร์ซื้อหรืออัตราแลกเปลี่ยนนั้น มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ครับ เพราะค่าเงินมันผูกไว้กับทองคำ หากปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงได้ หากต้องเอาเงิน 3 ดอลลาร์สหรัฐฯไปซื้อเงินปอนด์ อัตราส่วนระหว่างจำนวนเงินในระบบกับทองคำที่เก็บไว้จะเปลี่ยนไป เหลือเพียงวิธีเดียวที่จะตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ก็คือลดปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐฯลงและเพิ่มปริมาณเงินปอนด์เข้าไป ก็โดยการที่ย้ายทองคำจากสหรัฐฯไปอังกฤษครับที่ทำได้เพราะกฎข้อที่สามนั่นเอง(ในที่นี้กำหนดให้ไม่มีต้นทุนการขนย้ายนะครับ จะได้อธิบายง่ายๆ) ปริมาณเงินปอนด์จะเพิ่มขึ้นขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯจะลดลง ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนยังคงเดิม ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากปริมาณเงินปอนด์ที่เพิ่มขึ้นก็คือเศรษฐกิจอังกฤษก็จะดีขึ้น ผู้คนมีเงินมากขึ้น ต้องการบริโภคมากขึ้น สวนทางกับสหรัฐฯที่เมื่อปริมาณเงินลดลง ผู้คนจะใช้จ่ายน้อยลง เมื่ออังกฤษต้องการบริโภคมากขึ้นจนผลิตในประเทศไม่ทัน ก็ต้องหันไปพึ่งพาการนำเข้า อังกฤษจึงไปนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯบ้างขณะที่สหรัฐฯก็ต้องส่งออกให้มากขึ้นเพราะผลผลิตเหลือเนื่องจากคนใช้จ่ายน้อยลง เมื่ออังกฤษนำเข้ามากขึ้น ผลที่ตามมาก็จะวนกลับไปข้างต้น แต่สลับกัน

ข้อดีของมาตรฐานทองคำก็คือเศรษฐกิจจะสามารถปรับตัวได้เองครับ ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว หากมีการบริโภคมากไป กลไกของมาตรฐานทองคำก็จะทำหน้าที่ปรับสมดุลของระบบเศรษฐกิจ จะไม่มีประเทศใดมีดุลบัญชีเดินสะพัด(คิดโดยเอามูลค่าสินค้าและปริมาณที่ส่งออกลบกับที่นำเข้ามา) มากหรือน้อยจนสุดโต่ง เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางก็สบายแฮ ไม่ต้องไปเสียเวลาแทรกแซงเศรษฐกิจให้เมื่อยเหมือนสหรัฐฯที่ต้องอัดสภาพคล่องเพื่อปลุกเศรษฐกิจอยู่เหมือนเมื่อ 2-3ปีที่แล้วครับ ปล่อยมันไปตามกลไก

มาถึงตรงนี้เราก็รู้กันแล้วนะครับ ว่าทองคำเข้าไปเกี่ยวข้องกับเงินกระดาษเหล่านี้ได้อย่างไร ทำไมธ.กลางต้องเก็บทองคำสำรองไว้ ตอนหน้า เราจะลงลึกต่อไปเพื่อดูว่าทำไมทองคำถึงเกี่ยวข้องกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯอย่างใกล้ชิดซะขนาดนั้นกันต่อครับ แน่นอนครับ เราจะได้รู้ถึงการล่มสลายของมาตรฐานทองคำ ว่ามันเกิดจากอะไรและลากยาวไปถึงการกำเนิดของระบบ Bretton Woods ครับ ฮั่นแน่ สงสัยหล่ะสิ เอาเป็นว่า รอดูตอนหน้านะคร้าบ 

- Advertisement -

Comments
Loading...