พนันกับผมได้เลยครับว่านักลงทุนทองคำเกือบทุกท่านต้องหยุดการกระทำทุกอย่างลงทันที เมื่อนักวิเคราะห์หรือกูรูทางด้านทองคำต่างพูดถึงคำว่า “ราคาหน้าเหมือง”
ดังนั้น ผมก็ขอนำราคาหน้าเหมืองของเหมืองทองคำรายใหญ่ ๆ มาโชว์ให้ท่านเห็นกันซักเล็กน้อยครับ โดยในปี 2013 นั้น ราคาหน้าเหมืองดัง ๆ ก็มีดังนี้ครับ
- Gold.Corp = $1,013
- Barrick = $899 (เป็นราคาไตรมาส 4 ของปี 2013ครับ)
- Agnico= $952
เอาแค่สามเหมืองหลัก ๆ ก็พอครับ จะเห็นได้ว่าอยู่ในกรอบ $900-$1,100 ซึ่งทุกท่านก็คงสบายใจเพราะมันต่ำกว่าราคาทองคำในตลาดโลก และคาดกันว่า ราคาทองคำจะมีจุดต่ำสุด ก็คือ ราคาหน้าเหมือง ไม่มีทางลดต่ำไปกว่านั้น
ต้องบอกเลยครับว่า เรื่องนี้ก็เคลียร์กันยาวอยู่นะเออ (ราคาหน้าเหมืองที่ผมนำมาโชว์ให้ทุกท่านเห็นนั้นเป็นราคาที่สามารถหาอ่านได้ทั่วไปตามรายงานประจำปีของแต่ละบริษัทครับ)
ก่อนจะไปพูดถึงความเชื่อที่ว่า ราคาทองคำไม่มีวันลดต่ำกว่าต้นทุนกันนั้น เราลองมาทำความรู้จักกันหน่อยดีกว่าว่าราคาหน้าเหมืองที่พูดถึงคืออะไร และมันหามาได้ยังไง
ราคาหน้าเหมืองนั้นมีมาตรฐานการคิดคำนวณในตัวของมันนะครับ ไม่ใช่เหมืองไหนจะคิดได้ตามอำเภอใจ โดยราคาหน้าเหมืองที่เราพูด ๆ กันอยู่นี้ จะถูกคิดตามมาตรฐานหรือหน่วยงานที่เรียกว่า The Gold Institute Production Cost Standard โดยแบ่งต้นทุนหน้าเหมืองที่เราต้องรู้จักหลัก ๆ (ในรายงานประจำปี บางเหมืองอาจมีตัวเลขมากกว่านี้นะครับ) ก็คือ
- Cash Cost – คือ ราคาต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทองคำที่เหมืองต้องจ่ายทั้งหมดครับ ทั้งค่าขุดเหมือง ค่าหลอมทอง หล่อทอง พูดง่าย ๆ ก็คือ กระบวนการอะไรที่มันนำมาให้ได้ทอง จะถูกรวมเข้ามาอยู่ใน Cash Cost ครับ
- Total Cash Cost – คือ Cash Cost บวกกับต้นทุนสำนักงานใหญ่ครับ หลัก ๆ เลย ก็คือ ค่า Royalty หรือค่า Brand บางครั้งมีการรวมค่าภาษีการผลิตเข้าไปด้วย ส่วนจะมากจะน้อยก็ขึ้นกับเหมืองครับว่าจะผลักภาระมาให้ผู้ซื้อมากขนาดไหน
- All-In Sustaining Cost หรือ AISC – ราคาหน้าเหมืองที่เราพบเจอกันบ่อย ๆ ครับ โดยจะรวมค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสดเข้าไปด้วย หลัก ๆ ก็คือ ค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์และค่าดูแลรักษาระดับกำลังการผลิต (Susutaining Cost) ซึ่งก็คือ ค่าวิจัยและพัฒนาเหมือง ค่าสำรวจเหมือง เป็นต้น (ย้ำอีกครั้งว่า ราคาเหล่านี้สามารถหาได้จากรายงานประจำปีของแต่ละเหมืองครับ ซึ่งมันจะแปะอยู่ในเว็บไซต์บริษัทอยู่แล้ว)
โดยอย่างที่บอกไปข้างต้นครับ ราคาหน้าเหมืองที่เราควรดูมากที่สุดก็คือเจ้า AISC หรือ All-In Sustaining Cost เหตุผลก็เพราะมันเป็นต้นทุนที่สะท้อนทุก ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับการให้ได้ทองขึ้นมา 1 ออนซ์นั่นเอง
ข้อสังเกตของมัน ก็คือ เจ้าต้นทุน AISC นี้ นั้นรวมค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดเข้าไปด้วย หลัก ๆ ก็คือค่าเสื่อมราคาครับ นั่นหมายความว่าต้นทุนทองคำจะมากจะน้อย วิธีการหาค่าเสื่อม หลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณหาค่าดูแลรักษาระดับกำลังการผลิต (Susutaining Cost) ก็มีผลเหมือนกัน
จากรายงานประจำปีของ Agnico ได้มีข้อมูลที่น่าสนใจและอยากจะพูดให้ท่านผู้อ่านฟัง ก็คือ แนวโน้มราคาหน้าเหมืองอย่าง Cash Cost มีแต่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ครับ โดยจากเดิมที่อยู่ประมาณ $100 ในปี 1979 มาในปี 2012 เพิ่มขึ้นมาถึงเกือบ $800 ย้ำนะครับว่าเป็น Cash Cost เท่านั้น
หากบวกค่าอื่น ๆ เข้าไปจนเป็น AISC ก็ถือว่าค่อนข้างสูงอยู่ สาเหตุเพราะปริมาณเหมืองที่มีทองคำนั้นน้อยลง ราคาพลังงานที่สูงขึ้นเช่นเดียวกับค่าแรง ซึ่งมันก็มีโอกาสที่จะสูงกว่าราคาทองคำเสียด้วยสิ !
ทำไมผมถึงพูดอย่างนั้น ไว้ต่อตอนหน้าดีกว่าครับ ผมจะอธิบายให้ฟังว่าทำไมแนวคิดที่ว่า “ราคาทองคำจะไม่มีทางต่ำกว่าต้นทุนหน้าเหมือง” นั้นเป็นแนวคิดที่ไม่ค่อยจะเข้าแก๊ปซักเท่าไหร่