โดย : บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด(HGF)
สหรัฐกำลังพิจารณาการปรับลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีน
คืนนี้สหรัฐเปิดเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ
แนวโน้มราคาทองคำคาดปรับตัวลง
- ราคาทอง Spot เมื่อคืนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นในระดับสูงสุดที่ 1,865 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม การพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐได้กดดันแรงบวกของราคาทองคำ หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนกำลังพิจารณาการปรับลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐ ทางด้านกองทุน SPDR Gold Trust ซื้อทองคำสุทธิ 4.64 ตันจากเมื่อวานที่ผ่านมา
- คืนนี้สหรัฐเปิดเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนพ.ค. ตลาดคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 57.6 และ 55.1 ตามลำดับ และยอดขายบ้านใหม่เดือนเม.ย. ตลาดคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 751,000 ยูนิต จาก 763,000 ยูนิตในเดือนมี.ค.
- แนวโน้มราคาทองคำคาดปรับตัวลง โดยราคาทองคำมีแนวรับ 1,840 ดอลลาร์ และแนวรับถัดไป 1,830 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,870 ดอลลาร์ และ 1,880 ดอลลาร์
ราคาทองตลาดโลก
Close | chg. | Support | Resistance |
1,852.60 | +7 | 1,840/1,830 | 1,870/1,880 |
ราคาทองแท่ง 96.5%
Close | Support | Resistance |
30,150 | 29,850/29,700 | 30,200/30,400 |
โกลด์ฟิวเจอร์ส
Close | chg | Support | Resistance |
30,080 | -190 | 29,840/29,770 | 30,280/30,350 |
สามารถเข้าซื้อบริเวณ 1,840 ดอลลาร์ (GF 29,840 บาท) โดยมีจุดขายตัดขาดทุนที่ 1,830 ดอลลาร์ (GF 29,770บาท)
โกลด์ออนไลน์ฟิวเจอร์
Close | chg | Support | Resistance |
1,857.80 | -9.2 | 1,842/1,832 | 1,872/1,882 |
สามารถเข้าซื้อราคา GOM22 ที่ 1,842 ดอลลาร์ โดยมีจุดขายตัดขาดทุนที่ 1,832 ดอลลาร์
ค่าเงิน
ค่าเงินบาทเมื่อวานที่ผ่านมาแข็งค่าเล็กน้อย เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่า ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานการประชุมเฟดและตัวเลขส่งออกของไทย ทั้งนี้ระยะสั้นค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าในกรอบจำกัด สำหรับ USD Futures เดือนมิ.ย.65 มีแนวรับที่ 33.80 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้านที่ 34.35 บาท/ดอลลาร์
News
“ไบเดน” จ่อประกาศแผนความร่วมมือเศรษฐกิจ หวังคานอำนาจจีนในเอเชีย
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เตรียมเปิดเผยแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในเอเชียระหว่างการเดินทางเยือนภูมิภาค ท่ามกลางการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้น การประกาศนโยบายกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในการเยือนภูมิภาคเอเชียของปธน.ไบเดน ซึ่งประกอบด้วยเกาหลีใต้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ ก่อนจะเผยแผนดังกล่าวนั้น ปธน.ไบเดนได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ และจะร่วมหารือระดับทวิภาคีกับนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะหารือเรื่องความมั่นคงเป็นวาระสำคัญ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นระบุว่า แผนเศรษฐกิจที่ปธน.ไบเดนจะประกาศวันนี้ไม่ได้เป็นข้อตกลงทางการค้ารูปแบบเดิม โดยการค้าเป็นเพียง “เสาหลัก” เสาหนึ่ง แต่จะครอบคลุมด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การสร้างระบบซัพพลายเชนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น การส่งเสริมพลังงานสะอาด และการต่อต้านคอร์รัปชัน ทั้งนี้ นโยบาย IPEF เกิดขึ้นหลังจากที่อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ได้นำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (TPP) ซึ่งมีขึ้นในสมัยปธน.บารัค โอบามา ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมา สหรัฐก็ไม่เคยมีแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจใด ๆ ในภูมิภาคนี้อีก ขณะที่จีนนั้นได้ทำข้อตกลงทางการค้าหลายฉบับร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน และพยายามแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกภายใต้แผนริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (BRI)
ผู้นำโปแลนด์ออกโรงหนุนยูเครน หลังถูกกดดันยกดินแดนให้รัสเซีย
ประธานาธิบดีอันด์แชย์ ดูดาแห่งโปแลนด์ แสดงการสนับสนุนยูเครน ขณะกล่าวต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติของยูเครนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ประชาคมโลกกดดันให้รัสเซียถอนกำลังทหาร และระบุว่าการยกดินแดนใด ๆ เพื่อยุติสงครามจะเป็นการสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ให้กับฝั่งตะวันตก ปธน.ดูดากล่าวว่า “เราได้ยินเสียงที่แฝงด้วยความกังวล เสียงที่บอกว่ายูเครนควรยอมทำตามความต้องการของปูติน” ก่อนจะพูดต่อไปว่า “มีแต่ยูเครนเท่านั้นที่มีสิทธิตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง” ทั้งนี้ ประธานาธิบดีฟินแลนด์เป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่เดินทางมากล่าวในที่ประชุมรัฐสภาของยูเครนด้วยตนเอง นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา ทางด้านประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนกล่าวในที่ประชุมเดียวกัน โดยย้ำถึงข้อเรียกร้องให้ดำเนินการคว่ำบาตรมาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นต่อรัสเซีย นอกจากนี้ นายอันดรี ยาร์มาก เสนาธิการทหารของยูเครนโพสต์ทางทวิตเตอร์ว่า “สงครามจะต้องยุติลงโดยที่ยูเครนสามารถฟื้นฟูบูรณาภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์” สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ยูเครนปฏิเสธข้อเสนอที่จะหยุดยิงหรือยกดินแดนใด ๆ ให้กับรัสเซีย ขณะที่รัสเซียระดมโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้และทางตะวันออกของยูเครน
ญี่ปุ่น-สหรัฐกระชับสัมพันธ์ท่ามกลางสงครามในยูเครนและท่าทีก้าวร้าวของจีน
นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ มีกำหนดประชุมกันในวันนี้ที่กรุงโตเกียว โดยคาดว่าจะเน้นย้ำถึงความเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งระหว่างสหรัฐ-ญี่ปุ่นเพื่อตอบโต้สงครามของรัสเซียในยูเครน รวมทั้งท่าทีก้าวร้าวของจีนที่เพิ่มขึ้น และภัยคุกคามจากขีปนาวุธและนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ในการประชุมแบบพบหน้ากันครั้งแรก ผู้นำสหรัฐและญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะเห็นพ้องกันในเรื่องการกดดันรัสเซียให้ยุติรุกรานยูเครน และร่วมมือกันสร้างภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง โดยวิสัยทัศน์ดังกล่าวเป็นเหมือนมาตรการตอบโต้การเพิ่มอิทธิพลของจีนในภูมิภาค นอกจากนี้ คาดว่านายคิชิดะ และปธน.ไบเดนซึ่งเดินทางเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะแสดงความมุ่งมั่นที่จะรักษาเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จีนเพิ่มแรงกดดันทางทหารต่อไต้หวัน