โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
แนะนำขายทำกำไรระยะสั้นจากการแกว่งตัวของราคา ประเมินแนวต้าน 1,796-1,814 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากราคาปรับตัวลงอาจมีแรงซื้อเข้ามาพยุงบ้าง ราคายังมีโอกาสที่ราคาจะพยายามทรงตัวหรือฟื้นตัวขึ้นช่วงสั้น
แนวรับ : 1,768 1,751 1,734 แนวต้าน : 1,796 1,814 1,833
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวันนี้ปิดครับตัวเพิ่มขึ้น 2.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ในระหว่างวันราคาทองคำจะร่วงลงทดสอบระดับต่ำสุดบริเวณ 1,777.38 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยได้รับแรงกดดันจากการดัชนีดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนครึ่งบริเวณ 93.264 อย่างไรก็ดี ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นหลังจากนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงซื้อ Buy the dip แต่ส่วนใหญ่เกิดจากดัชนีดอลลาร์ที่ลดช่วงบวกลงในเวลาต่อมา หลังธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนก.ค.ที่ระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เฟดควรจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปีนี้ เมื่อพิจารณาจากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นวงกว้างตามที่เฟดคาดการณ์ไว้ แต่สิ่งที่ทำให้ดัชนีดอลลาร์ลดช่วงบวกลงเนื่องจาก “ยังไม่มีฉันทามติในหมู่กรรมการเฟดเกี่ยวกับกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนของการเริ่มต้นลดวงเงินQE” นอกจากนี้ ราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยยังได้รับแรงหนุนเพิ่มจากการร่วงลงของตลาดหุ้นสหรัฐ ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลง 382.59 จุด หรือ -1.08% ดัชนี S&P500 ปิด -1.07% ดัชนี Nasdaq ปิด -0.89% จากความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดวงเงิน QE ภายในปีนี้ สถานการณ์ดังกล่าวหนุนราคาทองคำให้ฟื้นตัวขึ้นมาปิดตลาดในแดนบวก ด้านกองทุนSPDR ถือครองทองคำลดลง -2.04 ตัน สู่ระดับ 1,015.10 ตันซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของปีนี้และต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปี 2020 ทำ สะท้อนการไหลออกของเงินทุนจากกองทุน ETF ทองคำ สำหรับวันนี้ ติดตามการเปิดเผยผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจจากเฟดฟิลาเดลเฟีย, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจาก Conference Board
ปัจจัยทางเทคนิค :
ราคาขยับขึ้นแต่ก็มีแรงขายทำกำไรสลับออกมาเพิ่ม หากราคาทองคำไม่สามารถยืนเหนือ 1,796-1,814 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ มีผลให้ราคาอาจปรับตัวลงเพื่อสร้างฐานราคาต่อ มีโอกาสเกิดแรงขายกลับลงมา โดยมีแนวรับโซน 1,770-1,768 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน :
แนะนำเข้าขายบริเวณแนวต้านเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น หากราคาทองคำทดสอบ 1,796-1,814 ดอลลาร์ต่อออนซ์แล้วไม่ผ่าน(ตัดขาดทุนสถานะขายหากผ่าน 1,814 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้) โดยใช้บริเวณแนวรับ 1,770-1,768 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นจุดเข้าซื้อคืนทำกำไร แต่หากราคายืนไม่อยู่ชะลอการเข้าซื้อคืนไปที่ที่แนวรับถัดไปบริเวณ 1,751 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ดาวโจนส์ปิดร่วง 382.59 จุด หลังเฟดส่งสัญญาณหั่น QE ปีนี้ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 1% เมื่อคืนนี้ (18 ส.ค.) หลังรายงานการประชุมเดือนก.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องที่จะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปีนี้ โดยรายงานดังกล่าวได้ฉุดหุ้นร่วงลงเป็นวงกว้าง ซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเฮลธ์แคร์ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,960.69 จุด ลดลง 382.59 จุด หรือ -1.08% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,400.27 จุด ลดลง 47.81 จุด หรือ -1.07% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,525.91 จุด ลดลง 130.27 จุด หรือ -0.89%
- สหรัฐฯ รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่า 1,000 คนเมื่อวันอังคาร ซึ่งมากที่สุดในรอบ 5 เดือน อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักข่าวรอยเตอร์ ท่ามกลางการระบาดหนักของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาในพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ รอยเตอร์ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสหรัฐฯ ในวันอังคาร อยู่ที่ระดับ 1,017 คน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 7 วันอยู่ที่ 769 คน ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนเมษายน สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่โดยเฉลี่ยมากกว่า 100,000 คนต่อวันในช่วง 12 วันที่ผ่านมา ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 37 ล้านคน เสียชีวิตแล้ว 623,000 คน
- สมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองลดลง 3.9% ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากราคาบ้านที่พุ่งขึ้น และสต็อกบ้านที่ตึงตัว รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่ปรับตัวขึ้น
- ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (18 ส.ค.) หลังจากรายงานการประชุมเดือนก.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องที่จะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปีนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.02% แตะที่ 93.1396 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.89 เยน จากระดับ 109.56 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9166 ฟรังก์ จากระดับ 0.9148 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2633 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2624 ดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 0.7242 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7251 ดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1711 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1710 ดอลลาร์ ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3761 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3735 ดอลลาร์
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดิ่งลง 7.0% ในเดือนก.ค. สู่ระดับ 1.534 ล้านยูนิต ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.60 ล้านยูนิต จากระดับ 1.650 ล้านยูนิตในเดือนมิ.ย. ทั้งนี้ ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายปี ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนก.ค. การอนุญาตก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 2.6% สู่ระดับ 1.635 ล้านยูนิตในเดือนก.ค. การอนุญาตก่อสร้างบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวลดลง 1.7% สู่ระดับ 1.048 ล้านยูนิต ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านสำหรับหลายครอบครัวพุ่งขึ้น 11.2% สู่ระดับ 587,000 ยูนิต
- QE ปีนี้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนก.ค.เมื่อวานนี้ โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เฟดควรจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปีนี้ เมื่อพิจารณาจากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นวงกว้างตามที่เฟดคาดการณ์ไว้ “กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า เมื่อพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวเป็นวงกว้างตามที่เฟดคาดการณ์ไว้ ก็เป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการ QE ในปีนี้” รายงานการประชุมเฟดระบุ พร้อมกับเสริมว่า “เศรษฐกิจสหรัฐได้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อแล้ว และการขยายตัวของการจ้างงานก็ใกล้จะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ” อย่างไรก็ดี กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นว่า การจ้างงานยังไม่อยู่ในภาวะที่ “มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” ซึ่งเป็นเกณฑ์สำคัญที่เฟดกำหนดไว้ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย “กรรมการส่วนใหญ่ต้องการให้เฟดสื่อสารกับตลาดให้ชัดเจนว่า การปรับลดวงเงิน QE จะไม่เกิดขึ้นพร้อมกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันมีกรรมการเฟดบางคนเสนอว่า เฟดควรรอจนถึงต้นปี 2565 ก่อนที่จะเริ่มปรับลดวงเงิน QE” เฟดระบุในรายงานการประชุมประจำวันที่ 27-28 ก.ค.