โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
หากราคาทองคำสามารถรักษาระดับยืนเหนือบริเวณ 1,804-1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างแข็งแกร่ง สามารถรอขายทำกำไรบางส่วนหากไม่ผ่านบริเวณแนวต้าน 1,834-1,839 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ถ้าฝ่าไปได้ให้รอขายบริเวณแนวต้านถัดไป
แนวรับ : 1,800 1,784 1,766 แนวต้าน : 1,839 1,851 1,866
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวันศุกร์ที่ผ่านมาปิดปรับตัวลดลง 17.60ดอลลาร์ต่อออนซ์แม้ในช่วงเช้าของตลาดเอเชีย ราคาทองคำจะดีดตัวขึ้นทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,832 ดอลลาร์ต่อออนซ์แต่ราคาทองคำไม่สามารถรักษาช่วงบวกไว้ได้ โดยเผชิญกับแรงขายทำกำไรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ราคาทองคำยังได้รับแรงกดดันเพิ่มการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาดีเกินคาด โดยเฉพาะยอดค้าปลีกของสหรัฐที่เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมิ.ย. โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของผู้บริโภค สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.4% สถานการณ์ดังกล่าวหนุนดัชนีดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้น 0.16% แตะที่ 92.712 ในวันศุกร์ พร้อมปิดตลาดในสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยการแข็งค่าขึ้น 0.60% ซึ่งส่งผลกดดันให้ราคาทองคำร่วงลงแรงพร้อมสร้างระดับต่ำสุดใหม่จากวันก่อนหน้าจนกระตุ้นแรงขายเพิ่มเติม นั่นทำให้ราคาทองคำร่วงลงต่อทดสอบระดับต่ำสุดในระหว่างวันบริเวณ 1,808.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์อย่างไรก็ดี ราคาทองคำยังสามารถปิดตลาดในแดนบวกเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองลดลง -5.82 ตันในวันศุกร์ สู่ระดับ 1,028.55 ตัน สะท้อนกระแสเงินทุนในเดือนก.ค.ที่เริ่มไหลออกจากกองทุน ETF ทองคำอีกครั้งหลังจากเกิดกระแสเงินทุนไหลเข้า 2 เดือนติดต่อกัน สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐจาก NAHB
ปัจจัยทางเทคนิค :
หลังจากราคาทิ้งตัวลง แต่ก็มีแรงช้อนซื้อจนราคาฟื้นตัวขึ้น หากราคาสามารถยืนเหนือโซน 1,804-1,800ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ระยะสั้นอาจทำให้เกิดแรงซื้อดันราคาขึ้นอีกครั้ง โดยประเมินแนวต้านบริเวณที่ 1,834-1,839 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากราคาไม่สามารถยืนเหนือโซนแนวต้านดังกล่าวได้อาจจะเห็นราคาแกว่งตัวออกด้านข้างเพื่อสะสมแรงซื้ออีกครั้ง
กลยุทธ์การลงทุน :
ลงทุนระยะสั้นโดยเปิดสถานะซื้อหากราคาอ่อนตัวลงมาในโซน 1,804-1,800ดอลลาร์ต่อออนซ์ พร้อมลดการลงทุนหากราคาหลุด 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ อาจทยอยแบ่งทองคำออกขายหากราคาทองคำไม่ผ่านแนวต้านที่ 1,834-1,839ดอลลาร์ต่อออนซ์ ผ่านได้สามารถถือต่อ
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) “ไบเดน” ออกโรงเตือนบริษัทมะกันระวังการทำธุรกิจในฮ่องกง ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดนได้ออกคำแนะนำในวันศุกร์ (16 ก.ค.) เพื่อเตือนบริษัทต่างๆ ของสหรัฐเกี่ยวกับการทำธุรกิจในฮ่องกง โดยคำแนะนำดังกล่าวระบุว่า บริษัทสหรัฐอาจเผชิญกับการสอดแนมที่คุกคามความลับขององค์กร และยังเตือนว่า พวกเขาอาจถูกบังคับให้ส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานและลูกค้าของบริษัท
- (+) สหรัฐชี้โควิดเดลตากลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลกแล้วในขณะนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐเปิดเผยว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดทั่วโลกแล้วในขณะนี้ ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นในสหรัฐซึ่งเกือบทั้งหมดนั้นเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน นายแพทย์แอนโทนี เฟาชี แพทย์ใหญ่ประจำคณะทำงานด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาวและผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID) ระบุว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาได้ถูกตรวจพบในราว 100 ประเทศ และขณะนี้ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดทั่วโลกแล้ว นางโรเชล วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐเปิดเผยในการแถลงข่าวในวันศุกร์ (16 ก.ค.) ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐเพิ่มขึ้น 70% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 26% ขณะที่การแพร่ระบาดเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ CDC ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยรายวันในรอบ 7 วันในขณะนี้อยู่สูงกว่า 26,000 ราย เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากระดับต่ำสุดของเดือนมิ.ย.ที่ราว 11,000 ราย
- (+) ดาวโจนส์ปิดลบ 299.17 จุด หุ้นเทคโนโลยีร่วงกดดันตลาด ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (16 ก.ค.) โดยถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ร่วงลง อาทิ หุ้นแอมะซอน และหุ้นกูเกิล ขณะที่นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้นในสหรัฐ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,687.85 จุด ลดลง 299.17 จุด หรือ -0.86%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,327.16 จุด ลดลง 32.87 จุด หรือ -0.75% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,427.24 จุด ลดลง 115.90 จุด หรือ -0.80%
- (+) ผลสำรวจม.มิชิแกนชี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐต่ำสุดรอบ 5 เดือน ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 80.8 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. จากระดับ 85.5 ในเดือนมิ.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 86.5
- (-) เฟดนิวยอร์กเผยผลสำรวจภาคบริการปรับตัวใกล้นิวไฮในเดือนก.ค. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยว่า ผลสำรวจผู้นำธุรกิจภาคบริการในนิวยอร์ก, นิวเจอร์ซีย์ และคอนเนกติกัต พบว่า ดัชนีธุรกิจภาคบริการลดลง 1.5 จุด สู่ระดับ 41.7 ในเดือนก.ค. แต่ยังคงใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้ในเดือนมิ.ย.
- (-) สหรัฐเผยยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย. สวนทางคาดการณ์กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมิ.ย. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลง 0.4% หลังจากดิ่งลง 1.7% ในเดือนพ.ค. ยอดค้าปลีกดีดตัวขึ้นในเดือนมิ.ย. โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของผู้บริโภค ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนมิ.ย. หลังจากลดลง 1.4% ในเดือนพ.ค.
- (-) ดอลล์แข็งค่า ขานรับยอดค้าปลีกสหรัฐแข็งแกร่งเกินคาด ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 ก.ค.) โดยได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐที่แข็งแกร่งเกินคาด ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.07% แตะที่ 92.6904 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 110.07 เยน จากระดับ 109.81 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9195 ฟรังก์ จากระดับ 0.9180 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2605 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2608 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1809 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1806 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3768 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3810 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7400 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7418 ดอลลาร์สหรัฐ
- (+/-) สหรัฐเผยสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.5% สอดคล้องคาดการณ์กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนเม.ย.