โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
ซื้อขายทำกำไรกำไรระยะสั้นจากการแกว่งตัวหากราคาทองคำไม่สามารถยืนเหนือแนวต้านบริเวณ 1,722-1,729 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ และทยอยขายทองคำออกมาเพื่อทำกำไร เพื่อรอซื้อคืนหากราคาไม่หลุดบริเวณแนวรับ 1,695-1,687 ดอลลาร์ต่อออนซ์
แนวรับ : 1,687 1,674 1,662 แนวต้าน : 1,729 1,745 1,760
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวันศุกร์ที่ผ่านมาปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.54 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากในระหว่างการซื้อขายในตลาดเอเชีย ราคาร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนที่ 1,687.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้จะมีแรงซื้อ Buy the dip เข้ามาพยุงราคาทองคำเอาไว้ อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากทองคำได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 379,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 210,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 6.2% ในเดือนก.พ. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 6.3% จึงยิ่งกระตุ้นการคาดการณ์เชิงบวกเกี่ยวกับฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ นั่นส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นสู่ระดับ 1.622% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปี 2020จนส่งผลกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย นอกจากนี้ ปัจจัยดังกล่าวยังหนุนให้ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าแตะระดับ 92.192 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 เดือน พร้อมกับหนุนดัชนีดาวโจนส์ชให้ปิดพุ่งขึ้นกว่า 500 จุดในวันศุกร์จนบั่นทอนความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มเติมอีกด้วย ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองลดลง -9.04 ตันสู่ระดับ 1,069.26 ตัน ทำให้ในปี 2021 กองทุน SPDR ถือครองทองลดลงแล้วถึง -101.48 ตันสะท้อนกระแสเงินทุนที่ยังคงไหลออกจากกองทุน ETF ทองคำต่อเนื่อง ปัจจัยที่กล่าวมาสกัดการฟื้นตัวของราคาทองคำเอาไว้ สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งของสหรัฐ รวมถึงติดตามการเคลื่อนไหวของดัชนีดอลลาร์, อัตาผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และตลาดหุ้นสหรัฐเพื่อประกอบการลงทุน
ปัจจัยทางเทคนิค :
หลังจากราคาทองคำทดสอบแนวรับโซน 1,687 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สามารถทรงตัวจนราคาฟื้นตัวขึ้น หากราคาทองคำยังสามารถรักษาระดับไว้ได้ ทำให้มีแนวโน้มดันขึ้นสู่บริเวณ 1,722-1,729 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ตามในโซนดังกล่าวขึ้นไป ต้องระวังแรงขายทำกำไรที่จะออกมาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ประเมินแนวรับโซน 1,695-1,687 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน :
เน้นการลงทุนระยะสั้นโดยเปิดสถานะขายหากราคาดีดตัวขึ้นทดสอบโซน 1,722-1,729 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากผ่าน 1,729 ดอลลาร์ต่อออนซ์) ทั้งนี้ อาจทยอยซื้อคืนเพื่อขายทำกำไรหากราคาทองคำอ่อนตัวลงไม่หลุดแนวรับ 1,695-1,687 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากหลุดสามารถถือสถานะขายต่อ
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) สหรัฐเผยขาดดุลการค้ามากเกินคาดในเดือนม.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.9% สู่ระดับ 6.82 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 6.75 หมื่นล้านดอลลาร์ จากระดับ 6.69 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนธ.ค
- (-) บอนด์ยีลด์สหรัฐทะยานเหนือ 1.6% ทำนิวไฮปีนี้ หลังตัวเลขจ้างงานพุ่งเกินคาด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีทะยานขึ้นเหนือระดับ 1.6% แตะระดับสูงสุดในปีนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่พุ่งขึ้นเกินคาด ณ เวลา 20.40 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 1.617% หลังแตะระดับ 1.626% ก่อนหน้านี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.34%
- (-) ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 572.16 จุด ขานรับตัวเลขจ้างงานแกร่ง ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 500 จุดเมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.) หลังการซื้อขายที่เป็นไปอย่างผันผวน โดยตลาดได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้นแล้วจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 31,496.30 จุด เพิ่มขึ้น 572.16 จุด หรือ +1.85% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,841.94 จุด เพิ่มขึ้น 73.47 จุด หรือ +1.95% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,920.15 จุด เพิ่มขึ้น 196.68 จุด หรือ +1.55%
- (-) ดอลล์แข็งค่า ขานรับตัวเลขจ้างงานสหรัฐแกร่งเกินคาด ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนก.พ. ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.39% แตะที่ 91.9835 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 108.33 เยน จากระดับ 107.90 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9308 ฟรังก์ จากระดับ 0.9293 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2664 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2659 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1912 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1966 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3840 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3889 ดอลลาร์
- (-) “เยลเลน” ฟันธงบอนด์ยีลด์พุ่งชี้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว เมินวิตกเงินเฟ้อเพิ่ม นางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ (5 มี.ค.) ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่เพิ่มขึ้นเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า นักลงทุนในตลาดกำลังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้น ไม่ใช่วิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น นางเยลเลนกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ PBS Newshour ว่า “ดิฉันไม่คิดว่า ตลาดกำลังคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในระยะยาวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)” นางเยลเลนกล่าวเสริมว่า เศรษฐกิจสหรัฐจำเป็นต้องมีการขยายตัวของการจ้างงานที่มากกว่าในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา แต่จะสามารถบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มที่ได้ในปีหน้า โดยจะได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ที่เสนอโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน
- (-) สหรัฐเผยจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งเกินคาดในเดือนก.พ. กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 379,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 210,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 6.2% ในเดือนก.พ. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 6.3% ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
- (+/-) วุฒิสภาสหรัฐไฟเขียวกม.กระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว วุฒิสภาสหรัฐได้ลงคะแนนโหวตอนุมัติกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ที่เสนอโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนแล้ว ด้วยคะแนนโหวตสนับสนุน 50 เสียง ขณะที่โหวตคัดค้าน 49 เสียง หลังจากที่ได้เจรจากันมาอย่างยาวนานเพราะฝั่งพรรครีพับลิกันได้พยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมายบางอย่าง รายงานข่าวระบุว่า คะแนนโหวตสนับสนุน 50 เสียงนั้นมาจากวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตทั้งหมด ไม่มีสมาชิกพรรครีพับลิกันคนใดโหวตสนับสนุน โดยเป็นกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีวงเงินมากเป็นอันดับต้นๆ ของสหรัฐ ทั้งยังนับเป็นชัยชนะในการออกกฎหมายสำคัญครั้งแรกของปธน.ไบเดนนับตั้งแต่ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนม.ค. ร่างกฎหมายฉบับสุดท้ายนั้นประกอบด้วยงบประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อใช้แจกเงินชาวอเมริกันคนละ 1,400 ดอลลาร์ โดยเป็นการให้เงินช่วยเหลือครั้งเดียว นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังรวมถึงมาตรการช่วยเหลือคนว่างงานต่อเนื่องสัปดาห์ละ 300 ดอลลาร์ด้วย ครอบคลุมชาวอเมริกันราว 9.5 ล้านรายที่ตกงานเพราะโควิด-19 ทั้งนี้ วุฒิสภาสหรัฐจะส่งกลับร่างกฏหมายที่อนุมัติแล้วให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอนุมัติอีกครั้งในสัปดาห์หน้า และหลังจากนั้นก็จะส่งให้ปธน.ไบเดนลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไปก่อนวันที่ 14 มี.ค.นี้