โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
พิจารณาโซน 1,717-1,721 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในการเสี่ยงเปิดสถานะขาย โดยเข้าซื้อคืนเมื่อราคาอ่อนตัวลงเข้าใกล้แนวรับโซน 1,703-1,699 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งจะเป็นการเก็งกำไรระยะสั้นเท่านั้น
แนวรับ : 1,699 1,687 1,676 แนวต้าน : 1,721 1,736 1,749
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวานนี้ปิดดิ่งลงถึง 18.87 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำถูกกดดันจากหลายปัจจัย ได้แก่ (1.)แรงขายตามทางเทคนิค หลังราคาทองคำหลุดแนวรับบริเวณ 1,721-1,719 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของราคาทองคำในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (2.) การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ จากแรงซื้อสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลว่าการผิดนัดชำระการเพิ่มเงินประกัน (Margin Call) ของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ Archego capital ในสัปดาห์ที่แล้วนั้นอาจส่งผลเสียในวงกว้าง และกระทบต่อตลาดอื่น นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนเพิ่มจากการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตรัฐเท็กซัสพุ่งขึ้น 28 จุด สู่ระดับ 48.0 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเมื่อ 17 ปีก่อนอีกด้วย และ(3.) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.724% จากความคาดหวังของนักลงทุนว่าแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่เตรียมจะเปิดเผยในวันพุธนี้จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เร็วขึ้น และเพิ่มอุปทานการออกประมูลพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดทุนงบประมาณ นั่นเป็นปัจจัยกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ย สถานการณ์ที่ระบุว่าเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาทองคำร่วงลงแรง จนแตะระดับต่ำสุดบริเวณ 1,705.92 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยมาปิดตลาดบริเวณ 1,712.03 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองเพิ่ม +0.88 ตัน สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยราคาบ้านจาก S&P/CS และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จาก CB ของสหรัฐ
ปัจจัยทางเทคนิค :
ราคาทองคำเกิดแรงขายจนราคาอ่อนตัวลง แม้ว่าจะมีแรงซื้อให้ดีดตัวขึ้นมาได้บ้าง แต่หากมีแรงซื้อไม่มากพอ ราคามีโอกาสอ่อนตัวลงทดสอบแนวรับโซน 1,703-1,699 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ ระยะสั้นประเมินแนวต้านโซนใกล้ 1,717-1,721 ดอลลาร์ หากไม่สามารถผ่านไปได้ อาจเกิดแรงขายกดดันให้ราคาอ่อนตัวลงอีกครั้ง
กลยุทธ์การลงทุน :
ราคาทองคำมีจุดเปิดสถานะขายระยะสั้นในบริเวณ 1,717-1,721 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากผ่าน 1,736 ดอลลาร์ต่อออนซ์) แต่หากราคาอ่อนตัวลงให้พิจารณาบริเวณ 1,703-1,699 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นจุดปิดสถานะขายเพื่อทำกำไรระยะสั้น
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ทำเนียบขาวยัน “ไบเดน” ไม่มีความต้องการพบ “คิม จอง อึน” ทำเนียบขาวแถลงในวันนี้ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนไม่มีความประสงค์ที่จะพบนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ ต่อข้อถามที่ว่า แนวทางทางการทูตของปธน.ไบเดนต่อเกาหลีเหนือจะรวมถึงการที่ปธน.ไบเดนพบปะกับนายคิม จอง อึนหรือไม่ ตามที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เคยปฏิบัติ นางเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า “ดิฉันคิดว่าแนวทางของปธน.ไบเดนจะแตกต่างจากอดีตปธน.ทรัมป์ และสิ่งนี้ไม่ใช่ความประสงค์ของปธน.ไบเดน”
- (+) ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐเตรียมทบทวนรายงาน WHO เกี่ยวกับต้นตอไวรัสโควิด-19 ทำเนียบขาวแถลงว่า คณะผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐจะทำการพิจารณาทบทวนรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับต้นตอของไวรัสโควิด-19 “เราจะทำการสอบสวนที่มีความเป็นอิสระ และให้ความสำคัญทางด้านเทคนิค ซึ่งหลังจากทำการทบทวนรายงานของ WHO เราก็จะประเมินแนวทางที่เราจะดำเนินการต่อไป” นางเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว กล่าว ทั้งนี้ รายงานที่ WHO จัดทำขึ้นร่วมกับจีนระบุว่า ไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อจากค้างคาวสู่มนุษย์ผ่านทางสัตว์อีกประเภทหนึ่งที่เป็นพาหะของโรค นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อย่างมากที่ไวรัสโควิด-19 จะเกิดจากการรั่วไหลออกจากห้องปฏิบัติการ
- (-) ดอลล์แข็งรับแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย เหตุวิตกเฮดจ์ฟันด์ผิดนัดชำระ Margin Call ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังมีรายงานข่าวว่าบริษัทเฮดจ์ฟันด์ในสหรัฐผิดนัดชำระการเพิ่มเงินประกัน (Margin Call) และส่งผลให้ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐผันผวนอย่างหนัก ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.18% สู่ระดับ 92.9413 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.80 เยน จากระดับ 109.68 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9392 ฟรังก์ จากระดับ 0.9390 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2596 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2594 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1763 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1789 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3760 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3783 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7629 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7620 ดอลลาร์สหรัฐ
- (-) เฟดดัลลัสเผยดัชนีภาคการผลิตพุ่งเป็นประวัติการณ์ในเดือนมี.ค. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตรัฐเท็กซัสพุ่งขึ้น 28 จุด สู่ระดับ 48.0 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเมื่อ 17 ปีก่อน ดัชนีมีค่าเป็นบวกในเดือนมี.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในเท็กซัส ดัชนีภาคการผลิตส่งสัญญาณขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 หลังจากทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
- (-) คาดศุกร์นี้สหรัฐเผยจ้างงานเพิ่มขึ้น 630,000 ตำแหน่ง อัตราว่างงานลดลงสู่ 6.0% นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ในวันศุกร์นี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 630,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 6.0%
- (+/-) หุ้นโบอิ้งพุ่งหนุนดาวโจนส์ปิดบวก 98.49 จุด ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (29 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นโบอิ้ง ซึ่งเป็น 1 ใน 30 หลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนีดาวโจนส์ อย่างไรก็ดี ดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ เนื่องจากหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มพลังงานร่วงลงอย่างหนัก ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,171.37 จุด เพิ่มขึ้น 98.49 จุด หรือ +0.30% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,971.09 จุด ลดลง 3.45 จุด หรือ -0.09% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,059.65 จุด ลดลง 79.08 จุด หรือ -0.60%