โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
เก็งกำไรระยะสั้นตามกรอบราคา เปิดสถานะซื้อหากราคาสามารถยืนเหนือ 1,815 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้และให้ทยอยขายทำกำไรหากราคายังไม่ยืนเหนือโซน 1,843-1,847 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากผ่านได้ถือสถานะซื้อต่อ
แนวรับ : 1,815 1,799 1,782 แนวต้าน : 1,847 1,860 1,876
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวันศุกร์ที่ปิดทะยานขึ้น 16.42 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนอย่างมาก หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนเม.ย. ที่เพิ่มขึ้นเพียง 266,000 ตำแหน่ง ซึ่ง “ต่ำกว่า” ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1,000,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.1% ในเดือนเม.ย. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 5.8% โดยนักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่า ตัวเลขการจ้างงานที่น่าผิดหวังมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากมาตรการแจกเงินให้ผู้ที่ตกงานเป็นเงิน 300 ดอลลาร์/สัปดาห์จนถึงเดือนก.ย. ซึ่งลดแรงจูงใจที่จะทำให้แรงงานกลับเข้าตลาดแรงงาน และผู้ปกครองยังคงต้องอยู่บ้านดูแลบุตร ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานแม้ว่ารัฐต่างๆจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่า “การเติบโตของตลาดแรงงานในสหรัฐชะลอตัวลงอย่างมากและยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน” ซึ่งช่วย “ลดการคาดการณ์” ในตลาดที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดวงเงิน QE เร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง -0.77% แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 เดือนที่ 90.129 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงหลุด 1.5% แตะระดับต่ำสุดที่ 1.4836% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ซึ่งช่วยหนุนทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยเพิ่มอีกด้วย ปัจจัยที่กล่าวมาอยู่เบื้องหลังการปรับตัวขึ้นแรงของราคาทองคำในวันศุกร์จนแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือนบริเวณ 1,843.04 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำเพิ่ม +5.82 ตัน สำหรับวันนี้ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ
ปัจจัยทางเทคนิค :
ราคาปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแล้วระดับหนึ่ง ประกอบกับมีแรงขายทำกำไรสลับเข้ามาบ้าง แต่หากราคาทองคำยังสามารถยืนเหนือแนวรับโซน 1,815 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แสดงว่าราคาพยายามทรงตัวรักษาระดับไว้และมีแนวโน้มดันขึ้นสู่บริเวณ 1,843-1,847 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ตามในโซนดังกล่าวขึ้นไป ต้องระวังแรงขายทำกำไรที่จะออกมา ซึ่งหากผ่านแนวต้านแรกได้ ประเมินแนวต้านถัดไปที่ 1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน :
หาจังหวะการเปิดสถานะซื้อ โดยอาจใช้บริเวณ 1,815-1,799 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และตัดขาดทุนหากหลุด 1,799 ดอลลาร์ต่อออนซ์ลงมา และสำหรับนักลงทุนที่ถือสถานะซื้ออยู่ แนะนำทยอยแบ่งปิดสถานะทำกำไรตั้งแต่ราคา 1,847-1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) จีนเรียกร้องสมาชิกยูเอ็นแบนเข้าร่วมประชุมเรื่องซินเจียงสัปดาห์หน้า สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จีนเรียกร้องประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ (UN) ไม่ให้เข้าร่วมการประชุมที่จัดขึ้นในสัปดาห์หน้าโดยเยอรมนี, สหรัฐ และอังกฤษ เพื่อหารือเรื่องการปราบปรามชาวมุสลิมอุยกูร์ และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทูตจีนประจำยูเอ็นระบุว่า “การประชุมดังกล่าวมีแรงจูงใจทางการเมือง ดังนั้นเราจึงขอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกของยูเอ็นงดเข้าร่วมการประชุมเพื่อต่อต้านจีนดังกล่าว” จีนกล่าวหาว่า ผู้จัดงานดังกล่าวซึ่งรวมถึงประเทศหลายแห่งในยุโรป รวมถึงออสเตรเลียและแคนาดา ใช้ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อแทรกแซงกิจการภายในของจีน อาทิ ในซินเจียง เพื่อสร้างความแตกแยก, ความปั่นป่วน และทำลายการพัฒนาของจีน “พวกเขาต้องการยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้ากับจีน และการยั่วยุดังกล่าวรังแต่จะทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันมากขึ้น” เอกอัครราชทูตของสหรัฐ, เยอรมนี และอังกฤษจะร่วมประชุมทางออนไลน์ในวันพุธหน้า พร้อมด้วยนายเคน รอธ ผู้อำนวยการบริหารขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ และแอกเนส คัลลามาร์ด เลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากล
- (+) ดอลล์อ่อนค่า นลท.เทขายหลังผิดหวังข้อมูลจ้างงานสหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (7 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์ออกมา หลังจากผิดหวังที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานเดือนเม.ย.ออกมาต่ำกว่าคาด ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.78% สู่ระดับ 90.2409 ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.61 เยน จากระดับ 109.04 เยน, ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9010 ฟรังก์ จากระดับ 0.9087 ฟรังก์ และดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2141 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2184 ดอลลาร์แคนาดา ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2165 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2055 ดอลลาร์, เงินปอนด์แข็งค่าแตะที่ 1.3996 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3884 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7846 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7772 ดอลลาร์
- (+) ปธ.เฟดริชมอนด์ยันเฟดยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน หลังจ้างงานวูบในเม.ย. นายโธมัส บาร์กิน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ กล่าวว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนเม.ย.ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมาก ทำให้เฟดยังไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในเร็วๆนี้ “ผมหวังที่จะเห็นตัวเลขที่แข็งแกร่งกว่านี้มาก ซึ่งตัวเลขจ้างงานในวันนี้ไม่ได้แสดงถึงความคืบหน้าอย่างมากที่เฟดต้องการเห็นก่อนที่จะทำการพิจารณาเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน” นายบาร์กินกล่าว นายบาร์กินระบุว่า เขาคิดว่าตัวเลขจ้างงานที่ซบเซาดังกล่าวเกิดจากปัญหาด้านอุปทานในตลาด และความไม่สมดุลระหว่างแรงงานที่มีอยู่ในตลาดและตำแหน่งงานที่ต้องอาศัยความชำนาญ รวมทั้งการที่ผู้ปกครองยังคงต้องอยู่บ้านดูแลบุตร นายบาร์กินกล่าวเสริมว่า การจ้างงานยังมีปัญหาจากการที่คนตกงานยังคงได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ยังไม่ต้องการกลับเข้าตลาด
- (+) นักวิเคราะห์เฉลยสาเหตุตัวเลขจ้างงานวูบในเดือนเม.ย. กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 266,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1,000,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.1% ในเดือนเม.ย. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 5.8% นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่ตัวเลขการจ้างงานต่ำกว่าคาดในเดือนเม.ย. มีสาเหตุจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หลังจากที่รัฐต่างๆผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 6.4% ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นตัวเลขการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ไตรมาส 3/2546 ส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดแรงงานพุ่งขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบ นับตั้งแต่ภาคการผลิตไปจนถึงร้านอาหาร นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังมีสาเหตุจากการที่ผู้ปกครองยังคงต้องอยู่บ้านดูแลบุตร และการที่รัฐบาลสหรัฐออกมาตรการเยียวยาชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการส่งเช็คเงินสดไปให้ผู้ที่ตกงาน ก็ได้ลดแรงจูงใจในการเข้าตลาดแรงงานในระยะนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าการจ้างงานจะกลับสู่ภาวะปกติในเดือนก.ย. ซึ่งมาตรการเยียวยาของรัฐบาลมีกำหนดสิ้นสุดในช่วงเวลาดังกล่าว
- (-) ดาวโจนส์ปิดบวก 229.23 จุด ข้อมูลจ้างงานอ่อนแอช่วยคลายวิตกดอกเบี้ยขาขึ้น ดัชนีดาวโจนส์และดัชนี S&P500 ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นทำนิวไฮเมื่อคืนนี้ (7 พ.ค.) และปรับตัวขึ้นในรอบสัปดาห์นี้ด้วย ขณะที่ดัชนี Nasdaq ฟื้นตัวขึ้น หลังจากการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานเดือนเม.ย.ที่ชะลอตัวในสหรัฐ ได้ช่วยคลายความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,777.76 จุด เพิ่มขึ้น 229.23 จุด หรือ +0.66%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,232.60 จุด เพิ่มขึ้น 30.98 จุด หรือ +0.74% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,752.24 จุด เพิ่มขึ้น 119.40 จุด หรือ +0.88%