โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ
หากระหว่างวันราคาทองคำไม่ทะลุแนวต้าน 1,759 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ราคาอาจแกว่งตัวออกด้านข้างและอาจจะเห็นการอ่อนตัวลงทดสอบแนวรับบริเวณ 1,742-1,734 ดอลลาร์ต่อออนซ์
แนวรับ : 1,734 1,719 1,700 แนวต้าน : 1,759 1,777 1,794
ปัจจัยพื้นฐาน
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ระหว่างวันราคาทองคำจะได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดัชนีดอลลาร์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งเหนือ 3% แตะระดับสูงสุดในรอบ 8 สัปดาห์ที่ 3.126% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจตอกย้ำจุดยืนคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อในการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮลซึ่งจะเปิดฉากในวันนี้
นอกจากนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังได้รับแรงหนุนจากดีมานด์ในการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปีมูลค่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์เป็นไปอย่างซบเซา โดย Bid coverage ratio ที่เป็นมาตรวัดความต้องการครั้งนี้อยู่ที่ 2.3 1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ก.พ. 2021 ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมากดดันให้ทองคำร่วงลงทดสอบระดับต่ำสุดในระหว่างวันบริเวณ 1,742.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากดัชนีดอลลาร์ลดช่วงบวกลง หลังการเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปทรงตัวในเดือนก.ค. หรือเพิ่มขึ้น 0.0% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.9% อีกทั้งทองคำยังได้รับแรงหนุนเพิ่มจากแรงซื้อ Buy the Dip และแรงซื้อปิดสถานะขาย(Short Covering) ซึ่งผลักดันให้ทองคำพุ่งขึ้นทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,755.84 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยประมาณการครั้งที่ 2 จีดีพีช่วงไตรมาส 2/2022 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ
ปัจจัยทางเทคนิค
หลังจากราคาทองคำพยายามกลับขึ้นไปทดสอบโซน 1,759 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่สามารถยืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้ แสดงถึงแรงซื้อในระดับจำกัด ราคาอาจแกว่งตัวออกด้านข้างและราคามีแนวโน้มอ่อนตัวลงทดสอบแนวรับ 1,742-1,734 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ถ้าไม่สามารถยืนได้ จะเกิดแรงขายออกมา โดยแนวรับถัดไปจะอยู่ที่ 1,719 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน
เน้นการลงทุนระยะสั้น พิจารณาบริเวณแนวรับ 1,742-1,734 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่หลุดสามารถเปิดสถานะซื้อ เพื่อหวังขายทำกำไรเมื่อราคาดีดตัวขึ้นบริเวณแนวต้าน 1,759-1,777 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากราคาหลุดแนวรับโซน 1,719 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สถานะซื้อให้ตัดขาดทุนเพื่อควบคุมความเสี่ยง
ข่าวสารประกอบการลงทุน
- (+) น้ำมัน WTI ปิดพุ่ง $1.15 รับสต็อกน้ำมันดิบลด-ข้อตกลงนิวเคลียร์ไม่แน่นอน สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ในวันพุธ (24 ส.ค.) หลังมีสัญญาณบ่งชี้ว่าการรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 1.15 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 94.89 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 1 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 101.22 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.
- (-) ดอลล์แข็งค่าเล็กน้อย ก่อนประชุมแจ็กสันโฮลเปิดฉากวันนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (24 ส.ค.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นในวันนี้ รวมทั้งการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดในวันศุกร์นี้ด้วย ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.05% แตะที่ระดับ 108.6750 ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 137.09 เยน จากระดับ 136.85 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9670 ฟรังก์ จากระดับ 0.9647 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2976 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2964 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 0.9965 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9963 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1788 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1818 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6906 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6922 ดอลลาร์สหรัฐ
- (-) ดาวโจนส์ปิดบวก 59.64 จุด รับแรงซื้อหุ้นพลังงาน ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ (24 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นในวันนี้ รวมทั้งการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดในวันศุกร์นี้ด้วย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,969.23 จุด เพิ่มขึ้น 59.64 จุด หรือ + 0.18%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,140.77 จุด เพิ่มขึ้น 12.04 จุด หรือ +0.29% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,431.53 จุด เพิ่มขึ้น 50.23 จุด หรือ +0.41%
- (-) บอนด์ยีลด์สหรัฐดีดทะลุ 3.1% จับตาเฟดเริ่มประชุมประจำปีพรุ่งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นทะลุ 3.1% ในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพรุ่งนี้ ณ เวลา 00.25 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 3.117% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.323%
- (-) สหรัฐเผยดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายลดลง 1.0% ในเดือนก.ค. สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ลดลง 1.0% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 89.8 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2563 อย่างไรก็ดี ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านในเดือนก.ค.ปรับตัวดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะร่วงลง 4% เมื่อเทียบรายปี ดัชนีดิ่งลง 19.9% ในเดือนก.ค.
- (+/-) สหรัฐเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนทรงตัวในเดือนก.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ทรงตัวในเดือนก.ค. หรือเพิ่มขึ้น 0.0% หลังจากพุ่งขึ้น 2.2% ในเดือนมิ.ย. ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนก.ค.ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของคำสั่งซื้อในภาคขนส่ง ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก.ค. โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนมิ.ย.
- (+/-) เฟดเตรียมเปิดประชุมประจำปี “แจ็กสันโฮล” เริ่มพรุ่งนี้ ส่งสัญญาณดอกเบี้ย,ศก.สหรัฐ นักลงทุนทั่วโลกจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (25 ส.ค.) และจะสิ้นสุดในวันที่ 27 ส.ค. โดยคาดว่าเฟดจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งการปรับลดขนาดงบดุล (QT) ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ สำหรับหัวข้อในการประชุมประจำปีนี้คือ “Reassessing Constraints on the Economy and Policy” โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด จะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในวันศุกร์ที่ 26 ส.ค.เวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 21.00 น.ตามเวลาไทย