โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
พิจารณาโซน 1,857-1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในการเปิดสถานะขาย ขณะที่การปิดสถานะขาย หรือเข้าซื้อคืนให้รอการอ่อนตัวลงเข้าใกล้แนวรับโซน 1,818-1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งจะเป็นการเก็งกำไรระยะสั้นเท่านั้น
แนวรับ : 1,818 1,800 1,782 แนวต้าน : 1,860 1,874 1,889
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลง 6.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยรวมแล้วราคาทองคำยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเดิมที่ต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ท่ามกลางแรงขายพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย บวกรวมกับการคาดการณ์ว่า การที่พรรคเดโมเครตครองอำนาจเบ็ดเสร็จจะทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องออกตราสารหนี้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่เกิดจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ปัจจัยดังกล่าวหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 1.1138% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน จนกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ย นอกจากนี้ ดัชนีดอลลาร์ยังแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ตามการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอีกด้วย สถานการณ์ที่กล่าวมา เป็นปัจจัยกดดันให้ราคาทองคำดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดบริเวณ 1,817 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นจากแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลง 89.28 จุด หรือ -0.29% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิด -0.66% และดัชนี Nasdaq ปิด -1.25% จากแรงเทขายทำกำไรหลังจากตลาดหุ้นนิวยอร์กพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้ราคาทองคำลดช่วงติดลบและดีดตัวขึ้นมาปิดตลาดบริเวณ 1,841.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลง -0.40 ตัน สำหรับวันนี้ไม่มีกำหนดการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐดัชนีภาวะธุรกิจขนาดเล็กจาก NFIB, การสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจาก IBD/TIPP และตําแหน่งงานว่างเปิดใหม่ (JOLTS Job Openings)
ปัจจัยทางเทคนิค :
ราคาทองคำเกิดแรงซื้อจนราคาฟื้นตัวขึ้นหลังจากเกิดแรงขายอย่างมากจนราคาทิ้งตัวลง โดยหากราคาทดสอบแนวต้าน 1,857-1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของวานนี้และเป็นกรอบแนวต้านของแนวโน้มขาลง แต่หากไม่สามารถผ่านไปได้ ประเมินว่าจะเกิดแรงขายกดดันมาเข้าใกล้ 1,818-1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน :
ราคาทองคำมีจุดเปิดสถานะขายระยะสั้นในบริเวณ 1,857-1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากผ่าน 1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์) แต่หากราคาอ่อนตัวลงให้พิจารณาบริเวณ 1,818-1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นจุดเข้าซื้อคืนเพื่อทำกำไรระยะสั้น
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ดาวโจนส์ปิดลบ 89.28 จุด หวั่นปัญหาการเมืองสหรัฐสกัดแผนกระตุ้นศก. ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (11 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า ความวุ่นวายทางการเมืองในสหรัฐซึ่งรวมถึงการที่สมาชิกพรรคเดโมแครตได้ยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกจากตำแหน่งนั้น อาจทำให้การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เป็นไปอย่างล่าช้า นอกจากนี้ ดัชนีดาวโจนส์ยังได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนเทขายทำกำไรหลังตลาดพุ่งขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,008.69 จุด ลดลง 89.28 จุด หรือ -0.29% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,799.61 จุด ลดลง 25.07 จุด หรือ -0.66% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,036.43 จุด ลดลง 165.54 จุด หรือ -1.25%
- (+) อังกฤษเตือนแมงเม่า “อาจหมดตัว หากเล่นกับบิตคอยน์” สำนักงานกำกับตลาดการเงินอังกฤษ (FCA) ออกคำเตือนในวันนี้ว่า ผู้ที่ลงทุนในบิตคอยน์มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียเงินทั้งหมด “FCA มีความตระหนักว่า บริษัทบางแห่งกำลังเสนอการลงทุนในรูปสกุลเงินคริปโต หรือปล่อยกู้ หรือให้มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินคริปโตที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งถ้าผู้บริโภคเข้าลงทุนในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ก็ควรเตรียมตัวที่จะสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมด” FCA ระบุ นอกจากนี้ FCA ยังเตือนว่า นักลงทุนควรระวังหากได้รับการติดต่อ และกดดันให้เข้าลงทุนอย่างรวดเร็ว หรือมีการให้สัญญาที่ฟังดูดีเกินกว่าที่จะเป็นจริง
- (+) บิตคอยน์ดิ่งต่อเนื่องต่ำกว่า 33,000 ดอลลาร์ หลุด 1,000,000 บาท บิตคอยน์ร่วงลงอย่างต่อเนื่องต่ำกว่าระดับ 33,000 ดอลลาร์ หลุดระดับ 1,000,000 บาท หลังจากพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใกล้ 42,000 ดอลลาร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ระบุว่า บิตคอยน์ได้รับผลกระทบจากแรงขายทำกำไรของนักลงทุน รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนดอลลาร์แข็งค่า ล่าสุด ณ เวลา 21.35 น.ตามเวลาไทย บิตคอยน์ดิ่งลง 4,702 ดอลลาร์ หรือ 12.51% สู่ระดับ 32,882.75 ดอลลาร์ หรือราว 986,460 บาท ในการซื้อขายบนแพลตฟอร์มของ Coinbase การร่วงลงของบิตคอยน์ส่งผลให้มูลค่าตลาดของสกุลเงินคริปโตหายไปราว 1.7 แสนล้านดอลลาร์ เหลือเพียง 9.6 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากทะยานขึ้นเหนือระดับ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี บิตคอยน์ยังคงพุ่งขึ้นมากกว่า 300% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทางด้านผู้เชี่ยวชาญพากันเตือนว่า การทะยานขึ้นของบิตคอยน์จะสะดุดลง หลังจากพุ่งขึ้นอย่างมากก่อนหน้านี้
- (+) ส.ส.เดโมแครตยื่นญัตติถอดถอน “ทรัมป์” ออกจากตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเดโมแครตจำนวน 3 รายได้ยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกจากตำแหน่งในความผิดข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดการจลาจล ญัตติดังกล่าวระบุว่า ปธน.ทรัมป์ได้กล่าวเท็จเกี่ยวกับการที่เขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีเพราะมีการโกงการเลือกตั้ง และได้ปลุกระดมมวลชนเพื่อบุกเข้าไปยังสภาคองเกรสในวันพุธที่ผ่านมาเพื่อขัดขวางกระบวนการประกาศรับรองชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของนายโจ ไบเดน “การกระทำของปธน.ทรัมป์ถือเป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย และแทรกแซงการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ รวมทั้งทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน ตราบใดที่เขายังอยู่ในตำแหน่งต่อไป ก็จะเป็นภัยต่อความมั่นคง ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ” ข้อความในญัตติระบุ คาดสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะลงมติต่อญัตติดังกล่าวในสัปดาห์นี้
- (-) J&J เตรียมเผยผลทดลองวัคซีนโควิด สามารถสร้างภูมิด้วยการฉีดเพียงเข็มเดียว ผู้เชี่ยวชาญกำลังจับตาวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) ซึ่งทางบริษัทระบุว่าสามารถให้การป้องกันไวรัสโควิด-19 ด้วยการฉีดเพียงโดสเดียว ก่อนหน้านี้ วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค, แอสตร้าเซนเนก้า/มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และโมเดอร์นา ล้วนต้องมีการฉีด 2 โดสเพื่อสร้างภูมิต้านทานต่อโควิด-19 ซึ่งการฉีด 2 โดสได้สร้างข้อจำกัดต่อรัฐบาลประเทศต่างๆในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ส่งผลให้บางประเทศพยายามยืดเวลาระหว่างการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ออกไปให้นานที่สุด เพื่อให้มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้แก่ประชากรจำนวนมากที่สุด
- (-) ดอลล์แข็งเทียบสกุลเงินหลัก หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่ง ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (11 ม.ค.) โดยดอลลาร์ปรับตัวตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 1.1% เมื่อคืนนี้ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี่ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนธ.ค. ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.38% สู่ระดับ 90.4600 ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 104.15 เยน จากระดับ 103.93 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8894 ฟรังก์ จากระดับ 0.8865 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2775 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2711 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2163 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2212 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.3524 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3560 ดอลลาร์