โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ
ราคาทองคำยังคงพยายามยืนเหนือแนวรับโซน 1,703-1,697 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากสามารถยืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้แนะนำเข้าซื้อ ราคามีแนวโน้มขึ้นทดสอบ 1,729-1,734 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ถ้าไม่สามารถผ่านแนวต้านได้อาจเกิดแรงขายทำกำไรระยะสั้นออกมาอีกครั้ง
แนวรับ : 1,697 1,676 1,657 แนวต้าน : 1,734 1,749 1,765
ปัจจัยพื้นฐาน
ราคาทองคำวันศุกร์ที่ผ่านมาปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.55 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยในระหว่างวันราคาทองคำได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ท่ามกลางแรงขายทำกำไรดอลลาร์ และแรงขายดอลลาร์เพื่อปรับสถานะการลงทุน หลังจากในสัปดาห์ที่ผ่านมาดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 24 ปีเมื่อเทียบกับเยน พร้อมแตะระดับสูงสุดในรอบ 37 ปีเมื่อเทียบกับเงินปอนด์
ส่วนดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีครั้งใหม่ ปัจจัยดังกล่าวอยู่เบื้องหลังการทะยานขึ้นทองคำทดสอบระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. บริเวณ 1,729.29 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี ราคาทองคำลดช่วงบวกลงในเวลาต่อมา ส่วนหนึ่งทองคำได้รับแรงกดดันจากแรงขายทำกำไร
นอกจากนี้ ทองคำยังได้รับแรงกดดันเพิ่มจากถ้อยแถลงในเชิง Hawkish ของเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟดที่กล่าวว่าเฟดควรจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวในขณะที่เศรษฐกิจสามารถ “รับมือได้” และกล่าวว่าเขาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย “ครั้งใหญ่” ในการประชุมประจำเดือนก.ย. สอดคล้องกับนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดเซนต์หลุยส์ ที่กล่าวย้ำเรียกร้องให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 75 bps เช่นกัน
ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่าเฟดมีแนวโน้มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 bps ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ สะท้อนจากFedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 88% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 bps สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ เพิ่มขึ้นจากระดับ 57% ในสัปดาห์ก่อน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสกัดช่วงบวกราคาทองคำเอาไว้
ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลง -1.15 ตัน สำหรับวันนี้ไม่มีกำหนดการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ
ปัจจัยทางเทคนิค
ราคาพยายามทดสอบแนวต้านที่ 1,729-1,734 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ยังไม่สามารถผ่านได้ (กรอบด้านบนของ Sideway Up )จึงมีแรงขายทำกำไรสลับออกมา อย่างไรก็ตามหากการอ่อนลงของราคาไม่หลุดโซนแนวรับระยะสั้นอยู่ที่ 1,703-1,697ดอลลาร์ต่อออนซ์ ประเมินว่าเป็นการอ่อนตัวลงระยะสั้นเพื่อสะสมแรงซื้ออีกครั้ง และราคามีโอกาสฟื้นตัวขึ้นทดสอบกรอบแนวต้านด้านบนอีกครั้ง
กลยุทธ์การลงทุน
แนะนำเปิดสถานะซื้อในบริเวณ 1,703-1,697 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ลดพอร์ตสถานะซื้อ หากราคาหลุด 1,676 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของปี 2021) เมื่อราคาดีดตัวขึ้นให้พิจารณาโซน 1,729-1,734 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นจุดปิดสถานะซื้อเพื่อทำกำไร แต่หากผ่านได้แนะนำชะลอการปิดสถานะซื้อไปที่แนวต้านถัดไป
ข่าวสารประกอบการลงทุน
- (+) ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบยูโร-เยน นลท.จับตา CPI สหรัฐ ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (9 ก.ย.) และแตะระดับต่ำสุดในรอบมากกว่า 1 สัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนขายทำกำไร หลังจากที่ก่อนหน้านี้ดอลลาร์พุ่งขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ ขณะที่นักลงทุนจะจับตาการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์หน้าเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับอัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.64% แตะที่ระดับ 109.0030 ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 142.68 เยน จากระดับ 144.01 เยน, อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9607 ฟรังก์ จากระดับ 0.9716 ฟรังก์ และดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3032 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3095 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0045 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9994 ดอลลาร์, เงินปอนด์แข็งค่าแตะที่ระดับ1.1589 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1500 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าแตะระดับ 0.6842 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6748 ดอลลาร์สหรัฐ
- (+) น้ำมัน WTI ปิดพุ่ง $3.25 วิตกอุปทาน-ดอลลาร์ร่วงหนุนแรงซื้อ สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (9 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากความวิตกเกี่ยวกับอุปทานน้ำมัน และการร่วงลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ช่วยหนุนสัญญาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน แต่ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลงในรอบสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. พุ่งขึ้น 3.25 ดอลลาร์ หรือ 3.9% ปิดที่ 86.79 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ยังคงปรับตัวลง 0.1% ในรอบสัปดาห์นี้ ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. พุ่งขึ้น 3.69 ดอลลาร์ หรือ 4.1% ปิดที่ 92.84 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ยังคงลดลง 0.2% ในรอบสัปดาห์นี้
- (-) ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 377.19 จุด นลท.แห่ซื้อหุ้นหลังปรับตัวรับดอกเบี้ยขาขึ้น ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (9 ก.ย.) และปรับตัวขึ้นในรอบสัปดาห์นี้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนได้พากันเข้าซื้อหุ้น โดยมองข้ามความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และดูเหมือนว่านักลงทุนได้ปรับตัวรับแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,151.71 จุด เพิ่มขึ้น 377.19 จุด หรือ +1.19%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,067.36 จุด เพิ่มขึ้น 61.18 จุด หรือ +1.53% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,112.31 จุด เพิ่มขึ้น 250.18 จุด หรือ +2.11%
- (-) เจ้าหน้าที่เฟดหนุนขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในการประชุมนโยบายการเงินเดือนนี้ นายคริส เวลเลอร์ หนึ่งในผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า เขาสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในการประชุมนโยบายการเงินเดือนนี้ “ผมขอสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในการประชุมครั้งนี้เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระดับที่สามารถกดดันอุปสงค์” นายเวลเลอร์กล่าว
- (-) สหรัฐเผยสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนก.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.8% หลังจากดีดตัวขึ้น 1.8% ในเดือนมิ.ย.
- (-) บิตคอยน์ดีดตัวเหนือ $21,000 นิวไฮ 2 สัปดาห์ อานิสงส์ดอลล์อ่อนค่า บิตคอยน์ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 21,000 ดอลลาร์ แตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ โดยได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ซึ่งช่วยกระตุ้นแรงซื้อสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงคริปโทเคอร์เรนซี ณ เวลา 23.48 น.ตามเวลาไทย บิตคอยน์พุ่งขึ้น 9.79% สู่ระดับ 21,236.25 ดอลลาร์ ในการซื้อขายบนแพลตฟอร์ม Coinbase
- (+/-) บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวไร้ทิศทาง ก่อนเผยตัวเลขเงินเฟ้อสัปดาห์หน้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวไร้ทิศทางในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อในสัปดาห์หน้า ณ เวลา 00.12 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 3.304% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 3.44%
- (+/-) ตลาดจับตา CPI สหรัฐ คาดเป็นสัญญาณชี้ทิศทางดอกเบี้ยเฟดในการประชุมเดือนนี้ นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐในวันอังคารที่ 13 ก.ย.นี้ โดยข้อมูลดังกล่าวจะเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายในการบ่งชี้ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI อาจเพิ่มขึ้นแตะ 8.1% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอลงเมื่อเทียบกับระดับ 8.5% ในเดือนก.ค.