บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 1 ต.ค.64 by YLG
โดย : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
คำแนะนำ :
หากราคายังไม่ผ่านโซน 1,760-1,763 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แนะนำเปิดสถานะขาย(ตัดขาดทุนหากผ่านบริเวณ 1,763 ดอลลาร์ต่อออนซ์)เพื่อไปรอซื้อคืนบริเวณแนวรับบริเวณ 1,742-1,738 ดอลลาร์ต่อออนซ์
แนวรับ : 1,738 1,721 1,707 แนวต้าน : 1,763 1,776 1,789
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวานนี้ปิดทะยานขึ้น 30.40ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนทั้งปัจจัยทางเทคนิคและปัจจัยพื้นฐาน ทั้งนี้ ระหว่างวันราคาทองคำร่วงลงทดสอบระดับต่ำสุดของวันก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ราคาทองคำสามารถทรงตัวเหนือระดับดังกล่าวได้จึงเริ่มเกิดแรงซื้อเก็งกำไรสลับเข้ามา ก่อนที่ราคาทองคำจะได้รับแรงหนุนหลังการเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นถึง11,000 ราย สู่ระดับ 362,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 335,000 ราย อีกทั้งยังเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งว่าสะท้อนการฟื้นตัวในตลาดแรงงานสหรัฐกำลังชะลอตัวลง ปัจจัยดังกล่าวกดดันดัชนีดอลลาร์ให้ร่วงลงจาก 94.503 ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ 28 ก.ย.ปีที่แล้ว นอกจากนี้ นักลงทุนยังทยอยขายทำกำไรดอลลาร์หลังจากแข็งค่าขึ้นอย่างมากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาอีกด้วย ปัจจัยที่กล่าวมาช่วยหนุนให้ราคาทองคำทะลุผ่านบริเวณ 1,734.87 ดอลลาร์ต่อออนซ์ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในระหว่างวัน และผ่านกรอบบนของ Pattern Falling Wedge จนกระตุ้นแรงซื้อตามทางเทคนิคเพิ่มเติม นั่นทำให้ราคาทองคำทะยานขึ้นผ่านแนวต้านระดับต่างๆจนกระทั่งขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,763.98 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีการใช้จ่ายส่วนบุคคล (PCE), การใช้จ่ายและรายได้ส่วนบุคคล, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI)ภาคการผลิตจากมาร์กิตและ ISM และคาดการณ์ความเชื่อมั่นผู้บริโภค จาก UoM ขณะที่ตลาดจีนจะปิดทำการต่อเนื่องในช่วงวันชาติตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 7 ต.ค.ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการซื้อขายในช่วงเช้าเบาบางกว่าปกติ
ปัจจัยทางเทคนิค :
หากราคาทองคำไม่สามารถขึ้นไปยืนเหนือ 1,760-1,763 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้มีแนวโน้มอ่อนตัวลงสู่บริเวณแนวรับ อย่างไรก็ตามในโซน 1,742-1,738 ดอลลาร์ต่อออนซ์ขึ้นไป ต้องจับตาแรงขายเก็งกำไรที่อาจเพิ่มสูงขึ้น แต่หากยืนไม่อยู่ประเมินแนวรับถัดไป1,721ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน :
หากราคาไม่ผ่าน 1,760-1,763 ดอลลาร์ต่อออนซ์มา แนะนำเปิดสถานะขายในโซนดังกล่าว ทั้งนี้ เข้าซื้อคืนเมื่อราคาอ่อนตัวลงรอดูบริเวณ 1,742-1,738 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากหลุดอาจชะลอการเข้าซื้อไปที่แนวรับถัดไป
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) สหรัฐเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้วกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 11,000 ราย สู่ระดับ 362,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 335,000 ราย ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้วแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าการจ้างงานได้ชะลอตัวลง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
- WMPs ครบกำหนดชำระวันนี้เพียง 10%ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน เปิดเผยในเว็บไซต์ว่า ฝ่ายธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของบริษัทได้ทำการชำระเงินจำนวน 10% ของตราสารหนี้ผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่ง (wealth management products) หรือ WMPs ที่ครบกำหนดชำระในวันนี้ เอเวอร์แกรนด์ระบุว่าทางบริษัทได้โอนเงินทุนดังกล่าวเข้าสู่บัญชีของนักลงทุนในวันนี้
- ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (30 ก.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากดอลลาร์แข็งค่าอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.12% แตะที่ 94.2291เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.37 เยน จากระดับ 111.98 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9325 ฟรังก์ จากระดับ 0.9342 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2658 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2747 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1583 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1600 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3475 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3435 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7230 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7183 ดอลลาร์สหรัฐ
- 546.80 จุด วิตกคองเกรสขัดแย้งขยายเพดานหนี้ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (30 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐนั้น อาจส่งผลให้สหรัฐผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยความกังวลดังกล่าวส่งผลให้เกิดแรงเทขายในหุ้นกลุ่มต่าง ๆ เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดิ่งลงอย่างหนัก ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,843.92 จุด ลดลง 546.80 จุด หรือ -1.59% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,307.54 จุด ลดลง 51.92 จุด หรือ -1.19% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,448.58 จุด ลดลง -63.86 จุด หรือ -0.44
- ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ปฏิเสธข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่ต้องการกลับสู่การเจรจากับเกาหลีเหนือเพื่อหาทางยุติโครงการนิวเคลียร์ แต่ยืนยันว่ายินดียกระดับความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สื่อของทางการเกาหลีเหนือ Korean Central News Agency (KCNA) รายงานคำแถลงของผู้นำคิมในวันพฤหัสบดี ซึ่งระบุว่า ความตั้งใจของสหรัฐฯ ที่ต้องการเจรจากับเกาหลีเหนือนั้นเป็นแค่ “การแสดง” เพื่อปกปิดนโยบายที่เป็นปรปักษ์ของรัฐบาลกรุงวอชิงตัน “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต่อนโยบายที่เป็นศัตรูของสหรัฐฯ ต่อเกาหลีเหนือ มีแต่ความหลอกลวงและวิธีการที่เจ้าเล่ห์เพิ่มขึ้นเท่านั้น” ผู้นำคิมกล่าวกับสื่อ KCNA
- GDP Q2/64 โต 6.7% กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 6.7% ในไตรมาส 2 สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 6.5% และตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ที่ระดับ 6.6% หลังจากที่ขยายตัว 6.3% ในไตรมาส 1 อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวในไตรมาส 3 โดยจะมีการขยายตัวต่ำกว่า 5% ท่ามกลางผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และการขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิต ซึ่งกระทบต่อยอดขายรถยนต์ รวมทั้งตัวเลขการสร้างบ้านและการซื้อบ้าน
- นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และเน้นย้ำความสำคัญของการใช้นโยบายการเงินและการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19