GOLD.in.th
ราคาทองวันนี้ ข่าวสาร วิเคราะห์ ทองคำ
เพิ่มเพื่อน

เพิ่มเพื่อนบัญชีทางการของเราเพื่อรับข่าวสารล่าสุด

บทวิเคราะห์ราคาทองคำวันนี้ 13 เม.ย.64 (YLG)

1,804

- Advertisement -

โดย  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

คำแนะนำ

เน้นเก็งกำไรระยะสั้นการเข้าซื้อควรรอราคาอ่อนตัวลงบริเวณแนวรับ 1,717 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และหากราคาขยับขึ้นควรแบ่งขายทำกำไรบางส่วนหากราคาทองคำไม่ผ่านโซน 1,744-1,746 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ถ้าผ่านได้สามารถถือต่อ

- Advertisement -

แนวรับ : 1,717 1,696 1,687  แนวต้าน : 1,746 1,767 1,783

สรุป

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลง 10.17 ดอลลาร์ต่อออนซ์  โดยประเด็นหลักที่กดดันราคาทองคำเมื่อวานนี้มาจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ  หลังจากวันศุกร์ที่ผ่านมามีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต(PPI)ที่ออกมาดีเกินคาด  ขณะที่การประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีมูลค่า 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์วานนี้  พบว่า Bid coverage ratio ซึ่งเป็นมาตรวัดความต้องการอยู่ที่ 2.36 เท่า แม้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาที่ 2.39 เล็กน้อย  อย่างไรก็ดี  ความต้องการในระดับดังกล่าวก็มากพอที่จะป้องกันไม่ให้อัตราผลตอบแทนสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด  นั่นส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 1.6835%  ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย  ทองคำจึงอ่อนตัวลงมาทดสอบระดับต่ำสุดบริเวณ 1,727.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในระหว่างการซื้อขายของตลาดสหรัฐ  แต่กระนั้นการปรับตัวลดลงของราคาทองคำยังถือว่าอยู่ในกรอบจำกัด  เนื่องจากทองคำได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์  หลังนายเจอโรมพาวเวล  ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ออกมายืนยันเมื่อวานนี้ว่า  “เฟดจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยปีนี้”  ประกอบกับตลาดหุ้นสหรัฐปิดตลาดในแดนลบจึงช่วยกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่ม  ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง  สำหรับวันนี้  ติดตามการเปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจขนาดเล็ก และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)ของสหรัฐ 

ข่าวสารประกอบการลงทุน :

  • (+) ดาวโจนส์ปิดลบ 55.20 จุด ตลาดจับตาผลประกอบการ-เงินเฟ้อสหรัฐ  ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (12 เม.ย.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ซบเซา ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันนี้ รวมทั้งการรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2564 ของบริษัทจดทะเบียนในสัปดาห์นี้ด้วย  ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,745.40 จุด ลดลง 55.20 จุด หรือ -0.16% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,127.99 จุด ลดลง 0.81 จุด หรือ -0.02% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,850.00 จุด ลดลง 50.19 จุด หรือ -0.36%
  • (+) ดอลล์อ่อนค่า หลังพาวเวลยันเฟดยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยปีนี้  ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 เม.ย.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า เฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค.ของสหรัฐในวันนี้ รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญด้านอื่นๆในสัปดาห์นี้ด้วย  ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.03% สู่ระดับ 92.1351 เมื่อคืนนี้  ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.41 เยน จากระดับ 109.65 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9228 ฟรังก์ จากระดับ 0.9249 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับดอลลาร์แคนดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2562 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2527 ดอลลาร์แคนาดา  ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1905 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1903 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3744 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3715 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7616 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7625 ดอลลาร์สหรัฐ
  • (+) WHO เตือนโควิดยังอยู่อีกนาน เหตุหลายประเทศการ์ดตก  นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า การที่หลายประเทศมีความสับสน และเริ่มการ์ดตกในการรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้การแพร่ระบาดกินเวลานานต่อไป  อย่างไรก็ดี นายแพทย์ทีโดรสกล่าวว่า การแพร่ระบาดจะสามารถถูกควบคุมได้ในเวลาอีกไม่กี่เดือน หากมีการใช้มาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด
  • (+) ไต้หวัน-จีนตึงเครียด หลังเครื่องบินรบจีน 25 ลำละเมิดน่านฟ้าไต้หวันวันนี้  กระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงว่า เครื่องบินของกองทัพอากาศจีนจำนวน 25 ลำได้ละเมิดเขตป้องกันตนเองทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวันในวันนี้ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินขับไล่ 18 ลำ และเครื่องบินทิ้งระเบิด 4 ลำ  เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการรุกล้ำน่านฟ้าของไต้หวันครั้งใหญ่ที่สุดของจีน นับตั้งแต่ที่ไต้หวันเริ่มรายงานความเคลื่อนไหวของกองทัพอากาศของจีนที่ละเมิดเขต ADIZ นับตั้งแต่ปีที่แล้ว
  • (-) บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวขึ้น นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อวันนี้  อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้นในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันพรุ่งนี้  ณ เวลา 21.10 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 1.68% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.35%
  • (-) ปธ.เฟดบอสตันคาดศก.สหรัฐแข็งแกร่งจากอานิสงส์นโยบายการเงิน-การคลัง นายเอริค โรเซนเกรน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาบอสตัน กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากการใช้นโยบายทางการคลัง และการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน  นอกจากนี้ นายโรเซนเกรนยังระบุว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐยังสามารถฟื้นตัวขึ้นได้อีกมาก
  • (-) บิตคอยน์เฉียด 2,000,000 บาท ใกล้ All Time High ขานรับ Coinbase เข้าวอลล์สตรีท  บิตคอยน์ดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันนี้ โดยพุ่งขึ้น 2.6% แตะระดับ 61,229 ดอลลาร์ หรือราว 1,930,000 บาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 1 เดือน ใกล้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 61,742 ดอลลาร์ที่ทำไว้เมื่อวันที่ 13 มี.ค.  บิตคอยน์พุ่งขึ้นในวันนี้ ก่อนที่ Coinbase Global Inc. ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นแพลทฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลใหญ่ที่สุดในสหรัฐ จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น Nasdaq ในวันที่ 14 เม.ย. ซึ่งถือเป็นการจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐเป็นครั้งแรกของบริษัทในธุรกิจดังกล่าว และจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ความต้องการของนักลงทุนสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัล
  • (-) อินเดียไฟเขียววัคซีน Sputnik V เหตุมีประสิทธิภาพ 91.6% ป้องกันโควิด  สื่อของอินเดียรายงานว่า ทางการอินเดียได้ให้การอนุมัติการใช้วัคซีน Sputnik V ของรัสเซียแล้ว เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไวรัสโควิด-19  ทั้งนี้ วัคซีน Sputnik V มีประสิทธิภาพ 91.6% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 และได้รับการอนุมัติจากประเทศต่างๆมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก  Sputnik V ถือเป็นวัคซีนต้านโควิด-19 ตัวที่ 3 ที่ได้รับการอนุมัติในอินเดีย หลังจากที่มีการอนุมัติวัคซีน Covishield ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีน COVAXIN ของบริษัทภารัต ไบโอเทค

- Advertisement -

Comments
Loading...